• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ได้มีการประชุม ครั้งที่ ๖/๒๕๖๗ (เป็นครั้งที่ ๑๒๔) วันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

๑.         คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน
               ด้วยคณะอนุกรรมาธิการจะมีการประชุม ในวันอังคารที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เพื่อพิจารณาแผนการเดินทางศึกษาดูงานในรับข้อมูลและข้อเท็จจริงในประเด็น แรงงานไทยย้ายถิ่นจากต่างประเทศ : กรณีศึกษาประเทศอิสราเอลและประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งพบปะกับแรงงานไทยที่เคยเดินทางไปทำงานและประสบความสำเร็จในประเทศอิสราเอลและประเทศญี่ปุ่น ณ จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๓ – วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
           ๒. คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน
               คณะอนุกรรมาธิการได้มีการจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาปัญหาและพัฒนาการนวดไทยเพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงรายงานการพิจารณาศึกษาฉบับดังกล่าว ให้มีความละเอียดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะได้มีการรวบรวมข้อเสนอแนะจากการประชุมและการลงพื้นที่ไปประมวลและวิเคราะห์
เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาให้แล้วเสร็จให้ทันสมัยการประชุมของวุฒิสภาในสมัยนี้ ทั้งนี้ หากจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป
           ๓. คณะอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
               ๑) ด้วยในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ คณะอนุกรรมาธิการจะมีการพิจารณาศึกษาการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการกำหนดนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในกรณีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการได้จัดทำหนังสือเชิญผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการเรียบร้อยแล้ว เพื่อชี้แจงในประเด็น
การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการกำหนดนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในกรณีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
               ๒) การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ที่เสนอไว้ในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ต้องยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุหนักด้วยแรงกายตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) สำหรับแรงงานกลุ่มต่าง ๆโดยเฉพาะการจัดทำแอปพลิเคชั่น (Application) โดยการประชุมคณะอนุกรรมาธิการในคราวถัดไปจะได้เชิญ
รองศาสตราจารย์ ดร. ประจวบ  กล่อมจิตร เพื่อชี้แจงในประเด็นการจัดทำแอปพลิเคชั่น (Application) คำนวณน้ำหนักที่แนะนำของวัสดุ (RWL) และค่าดัชนีงานยก (LI) และความคืบหน้าในการจัดทำแอปพลิเคชันดังกล่าว
           ๔. คณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม
               ๑) คณะอนุกรรมาธิการได้มีพิจารณาแผนการเดินทางศึกษาดูงาน ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๓ – วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับการฝึกอบรมสร้างทักษะฝีมือแรงงาน และการให้บริการดูแลตรวจสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ ตามโครงการ “Healthy Thailand
เพื่อผู้ประกันตน” โดยจะเข้าศึกษาดูงานสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPLI) และทอสกานาวัลเล่ (Toscana Valley)
               ๒) คณะอนุกรรมาธิการอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทางเลือกเชิงนโยบาย
: การประกันสังคมกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาจัดพิมพ์ประมาณ ๑ สัปดาห์
และเมื่อจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะได้ทำหนังสือกราบเรียนประธานวุฒิสภา เพื่อขอบรรจุรายงานเข้าระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาต่อไป
               ๓) ตามที่คณะกรรมาธิการการแรงงานได้จัดทำรายการการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบ
การแรงงาน : การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน และได้เสนอและผ่านความเห็นชอบ จากที่ประชุมวุฒิสภาไป
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ นั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์รูปเล่มฉบับแก้ไข
ตามความเห็นของที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าน่าจะจัดพิมพ์แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๗ จำนวน ๒๐๐ เล่ม และเมื่อจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะได้จัดส่งไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่สนใจต่อไป
 
               อนึ่ง ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการแรงงานได้มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ในส่วนสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จำนวน ๕๖,๔๐๑,๖๑๙,๘๐๐ บาท เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ มีข้อสังเกตสรุปได้ ๗ ประการ คือ (๑) ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (๒) การตั้งงบประมาณรายจ่ายล่วงหน้า ลด - เพิ่ม สลับกันไป (๓) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณมีค่าเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็นอัตราที่ไม่สม่ำเสมอ (๔) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพมีค่าเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง (๕) งบประมาณรายจ่ายบุคลากรเติบโตในเกณฑ์ปกติ (๖) ทิศทางลงของแผนงานผู้ประกันตนมาตรา ๔๐ (๗) ตัวชี้วัดนายจ้างที่ยังขาดไปในแผนงานผู้ประกันตนมาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๙ ทั้งนี้ จะได้นำเสนอข้อเสนอแนะดังกล่าวในนามของคณะกรรมาธิการการแรงงาน ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ต่อไป