• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

คณะกรรมาธิการการแรงงาน ประชุมกรรมาธิการ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๗ (เป็นครั้งที่ ๑๒๒) วันจันทร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

คณะกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
               ๑. ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ได้ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
                   โครงการ IM Japan เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยมีการทำ MOU กับประเทศญี่ปุ่น เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน โดยจะมีขั้นตอนการคัดเลือกใน ๔ ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนการสมัครสอบคัดเลือก และการสอบคัดเลือก ๒) ขั้นตอนการฝึกอบรม ๓) ขั้นตอนการคัดเลือกจากโครงการ IM Japan ๔) ขั้นตอนการส่งไปทำงาน ซึ่งกรมการจัดหางานจะเกี่ยวข้องกับในขั้นตอนที่ ๒) คือ ขั้นตอนการฝึกอบรม โดยจะมีการแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ (๑) ช่วงที่ ๑ การเตรียมตัวสอบคัดเลือก คือ การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย และสอบความรู้ภาษาญี่ปุ่น (๒) ช่วงที่ ๒ การเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปทำงาน คือ การเข้ารับการอบรมก่อนการเดินทาง ๔ เดือน อบรมภาษาญี่ปุ่น และจะมีการทดสอบก่อนเดินทางไปทำงาน
                   ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาปัญหาที่พบ คือ ปัญหาด้านจำนวนและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการมีจำนวนมาสมัครสอบคัดเลือกน้อย อีกทั้งการสอบคัดเลือกมีขั้นตอนที่เฉพาะ อาทิ การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เช่น การวิ่ง การดันพื้น และการสอบการอ่านและเขียนภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น รวมทั้งมีกระบวนการขั้นตอนและระยะเวลาที่มากกว่าแรงงานจะได้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น และการฝึกอบรมที่เข้มข้น ทั้งนี้สาเหตุหลักที่สำคัญ คือ ระหว่างการฝึกระยะเวลา ๔ เดือน ผู้เข้ารับการฝึกขาดรายได้ จึงทำให้ไม่เป็นที่สนใจของแรงงาน
                   ในการนี้ กระทรวงแรงงานได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และจะได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนจากโครงการ IM Japan เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยกระทรวงแรงงานจะได้มีการเสนอให้ปรับปรุงแนวทางการสอบคัดเลือกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการหารือในเรื่องการมีรายได้ของแรงงานระหว่างการฝึก ๔ เดือน อีกทั้งการกำหนดระยะเวลาการรับสมัครจากเปิดรับสมัครเป็นช่วง ๆ (เปิดรับสมัคร ๔ ครั้ง/ปี) เปลี่ยนมาเป็นเปิดรับสมัครตลอดปี เป็นต้น อีกทั้ง กระทรวงแรงงานมีแผนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สำหรับโครงการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และกระตุ้นความสนใจของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
               ๒. ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
                   กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในข้อมูลและความต้องการแรงงานที่จะเข้าร่วมโครงการ IM Japan หากได้มีการประสานข้อมูลดังกล่าวมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ร่วมกันทั้งในระดับภูมิภาค
และในระดับท้องถิ่น ทั้งนี้จะได้นำข้อมูลที่ได้รับทราบจากการประชุมในครั้งนี้ไปหารือกับผู้บริหารในเบื้องต้นต่อไป
               ๓. ผู้แทนจากกระทรวงศึกษา
                   กระทรวงศึกษามีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน ทั้งในเรื่องการประชาสัมพันธ์ และการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน หากได้มีการประสานข้อมูลดังกล่าวมายังกระทรวงศึกษา เพื่อจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์และการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน ทั้งนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น ปัจจุบันมีการเรียนการสอนอยู่เพียง ๒ แห่งเท่านั้น เนื่องจากบุคคลกรที่สอนภาษาญี่ปุ่นมีน้อยมาก จึงทำให้ไม่สามารถเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นได้
          อนึ่ง คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าโครงการ IM Japan เป็นโครงการที่ดีมากโดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกันให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลของโครงการ
IM Japan ได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจหรือให้สิทธิพิเศษสำหรับหน่วยงานที่จัดหาแรงงานมาสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

พิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการ

        ๑. คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ได้มีการประชุมร่วมกันกับคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาศึกษา เรื่อง แรงงานไทยย้ายถิ่นจากต่างประเทศ : กรณีศึกษาประเทศอิสราเอลและประเทศญี่ปุ่น โดยเห็นว่าควรเดินทางไปศึกษาดูงาน เพื่อรับข้อมูลและข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งพบปะกับแรงงานไทยที่เคยเดินทางไปทำงาน
และประสบความสำเร็จในประเทศอิสราเอลและประเทศญี่ปุ่นในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุดรธานี ระหว่าง
วันศุกร์ที่ ๒๓ – วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการจึงขออนุมัติเดินทางศึกษาดูงานตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว
           ๒. คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน
               ๑) ความคืบหน้าของรายงานการพิจารณาศึกษาปัญหาและพัฒนาการนวดไทยเพื่อให้ได้มาตรฐานโดยเชิญ
ผู้ชี้แจงเข้าร่วมประชุม คือ (๑) ผู้ร้องเรียน (๒) ผู้แทนสภาการแพทย์แผนไทย ซึ่งจากการรับฟังข้อมูลคณะอนุกรรมาธิการได้มีข้อสังเกต คือ (๑) การนวดไทยเป็นพลังสร้างสรรค์ (Soft Power) ที่มีคุณค่าและสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล สภาการแพทย์แผนไทยควรผลักดันการนวดไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพลังสร้างสรรค์ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน
ในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ (๒) สภาการแพทย์แผนไทยควรคิดค้นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการนวดผ่านหลักสูตรหรือมีระดับฝีมือแรงงานเท่าใดเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ
               ๒) ขออนุมัติปรับเปลี่ยนตำแหน่งคณะอนุกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ
               ๓) ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงและแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาปัญหาและพัฒนาการนวดไทยเพื่อให้ได้มาตรฐาน (เพิ่มเติม)
           ๓. คณะอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
               ๑) แนวทางในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการในระยะต่อไป คณะอนุกรรมาธิการจะมีการติดตามความคืบหน้าในประเด็น คือ (๑) การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เสนอไว้ในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ต้องยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุหนักด้วยแรงกายตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) สำหรับแรงงานกลุ่มต่าง ๆ (๒) กรณีประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๘๗ และฉบับที่ ๙๘ และ (๓) ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน โดยเฉพาะ
ร่างพระราชบัญญัติด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่จะมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
               ๒) การพิจารณาศึกษาการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการกำหนดนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในกรณีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คณะอนุกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อการจ้างแรงงานในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงเห็นว่าควรเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาเข้าร่วมประชุมกับ
คณะอนุกรรมาธิการ เพื่อชี้แจงแสดงความคิดเห็น ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
            ๔. คณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม
               ๑) การพิจารณาประเมินผลการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการ
ในคณะกรรมการประกันสังคม เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ ในสองประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การจัดการเลือกตั้งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ (๒) การใช้จ่ายเงินของกองทุนประกันสังคมเพื่อบริหารงานสำหรับดำเนินการเลือกตั้ง (มาตรา ๒๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓) จำนวนกว่า ๒๐๗ ล้านบาท มีความคุ้มค่าหรือไม่ โดยคณะอนุกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อคิดเห็น คือ ประเด็นที่ ๑ การจัดการเลือกตั้งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
และประเด็นที่ ๒ การใช้จ่ายเงินของกองทุนประกันสังคมเพื่อบริหารงานสำหรับดำเนินการเลือกตั้ง จำนวนกว่า ๒๐๗ ล้านบาท มีความคุ้มค่าหรือไม่ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการได้จัดทำร่างบทความ เรื่อง ตัวแบบ ๙ กล่องกระบวนการสู่ผลสัมฤทธิ์กับการประเมินผลการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หากที่ประชุมคณะกรรมาธิการการแรงงานเห็นชอบ จะได้ส่งเป็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการพัฒนาการเลือกตั้งดังกล่าวไปยังกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง รวมทั้งองค์การด้านแรงงานอื่น ๆ ต่อไป
               ๒) การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ในส่วนสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จำนวน ๕๖,๔๐๑,๖๑๙,๘๐๐ บาท เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ มีข้อสังเกตสรุปได้ ๗ ประการ เพื่อพิจารณาหรือมีข้อสังเกตต่องบประมาณของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะในส่วนกรมหรือหน่วยรับงบประมาณที่อยู่ในขอบเขตของแต่ละอนุกรรมาธิการ เพื่อจะได้รวบรวมและผลักดันเป็นข้อเสนอแนะในนามของคณะกรรมาธิการการแรงงาน ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ต่อไป คือ (๑) ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (๒) การตั้งงบประมาณรายจ่ายล่วงหน้า
ลด - เพิ่ม สลับกันไป (๓) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณมีค่าเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็นอัตราที่ไม่สม่ำเสมอ (๔) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ
มีค่าเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง (๕) งบประมาณรายจ่ายบุคลากรเติบโตในเกณฑ์ปกติ (๖) ทิศทางลงของแผนงานผู้ประกันตนมาตรา ๔๐ (๗) ตัวชี้วัดนายจ้างที่ยังขาดไปในแผนงานผู้ประกันตนมาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๙
               ๓) ความคืบหน้าในการจัดทำร่างรายงานการพิจารณาศึกษา จำนวน ๒ เรื่อง ดังนี้
                   (๑) รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาระบบประกันสังคมไทย : “ก้าวสู่ประกันสังคมถ้วนหน้าด้วยประชารัฐ” โดยได้เห็นชอบโครงร่างรายงาน การกำหนดนิยามความหมายของแรงงาน
นอกระบบ รวมทั้งทิศทางของเนื้อหาที่จะปรากฏในรายงานแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน หากแล้วเสร็จจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการในโอกาสต่อไป
                    (๒) รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทางเลือกเชิงนโยบาย : การประกันสังคมกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ อยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติมรายงานให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะไดนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมาธิการ
ในการประชุมครั้งหน้า เพื่อจะได้จัดพิมพ์และนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป