• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

การศึกษาดูงาน ของคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ – วันเสาร์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ ณ ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี
                   พบผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน สำนักงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้าจังหวัด และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและการบริการ
                                โดยที่ประชุมได้มีการรายงานถึงสถานการณ์ด้านแรงงานของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการ มีการไหลออกจากพื้นที่ หรือเปลี่ยนอาชีพ เนื่องจากธุรกิจปิดตัวลง และแม้ว่าขณะนี้ การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่แรงงานในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือ หรือแรงงานทักษะพิเศษ เช่น มัคคุเทศก์ เชฟ ครูฝึกสอนดำน้ำ ยังคงขาดแคลนอยู่มาก โดยมีสาเหตุหลัก ๆ ทั้งในด้านค่าจ้าง ค่าตอบแทน ที่ต่ำกว่าเมืองท่องเที่ยวอื่น ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของภาคเอกชนที่มองว่าก่อนจะมีสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีรายได้รวมกว่า 2 แสนล้านบาท และมาจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เป็นสถาบันการศึกษาผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่ตลาดยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ
                   คณะกรรมาธิการได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หลายพื้นที่ทั่วประเทศประสบปัญหาในลักษณะนี้ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงและพูดภาษาต่างประเทศได้ ซึ่งผู้ผลิตแรงงาน อาชีวะศึกษา มหาวิทยาลัย กับผู้ประกอบการ ภาคเอกชน จะต้องร่วมกันกำหนดทิศทางการผลิตแรงงาน ขณะที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานก็มีส่วนสำคัญในการยกระดับทักษะ ความสามารถและการออกใบรับรองให้กับแรงงานที่ต้องการ Up Skills – Re Skills เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น
                   ทั้งนี้ ในส่วนของความก้าวหน้าการขับเคลื่อนและประเด็นที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่โดยเฉพาะข้อมูลโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) คณะกรรมาธิการเห็นว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีควรนำแนวทางการบริหารจัดการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาพิจารณาเทียบเคียงและปรับใช้ให้เหมาะสมกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน โดยคณะทำงานศึกษาการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาและเสนอต่อไปยังรัฐบาล หากดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้วจะจัดส่งรายงานฉบับดังกล่าวให้แก่สำนักงานจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้นำไปศึกษาขยายผลต่อไป
วันศุกร์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ ณ วิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์แม่บ้านควนทอง ตำบลพรุไท อำเภอบ้านตาขุน
                   ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมการผลิตพริกแกงใต้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์แม่บ้านควนทอง ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบในชุมชนมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าและส่งเสริมรายได้จากเงินปันผลให้แก่สมาชิกในชุมชน
                   กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้านควนทอง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 เมื่อแรกเริ่มเป็นการรวมกลุ่มเพื่อการออม เมื่อสถานะทางการเงินเข้าที่จึงมีการต่อยอดประกอบอาชีพทำพริกแกง เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน พริกแกงที่ผลิต เช่น พริกแกงส้ม พริกแกงกะทิ พริกแกงเขียวหวาน และพริกแกงขนมจีนน้ำยาใต้ มีคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน จำนวน 40 คน
ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่กลุ่มแม่บ้าน โดยแนะนำกรรมวิธีการผลิตที่ถูกสุขอนามัย การถนอมอาหารให้มีเวลาจัดเก็บที่ยาวนานขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงรสชาติของพริกแกงให้สอดคล้องกับความนิยมในท้องตลาด ส่งผลให้กลุ่มแม่บ้านสามารถผลิตพริกแกงได้อย่างมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น จากวัตถุดิบหลักอย่างพริกและขมิ้นชันที่ปลูกในชุมชน โดยกลุ่มแม่บ้านตั้งเป้าหมายให้มีปริมาณคำสั่งซื้อที่มากยิ่งขึ้น และต้องการตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
                   คณะกรรมาธิการ ได้ชื่นชมความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของกลุ่มแม่บ้าน มีการประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน สร้างความสามัคคีและพึ่งพาตนเองได้ พร้อมเน้นย้ำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการจัดทำแผนธุรกิจ การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และวิเคราะห์องค์ความรู้ทางการเงิน การคำนวณปริมาณวัตถุดิบให้เพียงพอต่อคำสั่งซื้อที่มากขึ้น การบริหารจัดการเงินปันผลประจำปีเพื่อให้สามารถจัดซื้อตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ได้ พร้อมทั้งปรับความคิดในการดำเนินงานตามรูปแบบบริษัทเอกชน ให้กิจการค่อย ๆ เติบโต และต่อยอดขนาดการผลิตในอนาคต รวมทั้งได้แนะนำเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เช่น การนั่ง ยืน หรือใช้การยกของหนักให้จัดท่าทางที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการนั่งนานด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือ
                   ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ คือ กลุ่มยังไม่มีองค์ความรู้และทักษะด้านการทำธุรกิจให้เติบโตในรูปแบบของ SMEs ประกอบกับวัตถุดิบหลัก อาทิ พริก กระเทียม ฯลฯ ทางกลุ่มไม่สามารถปลูกได้ตามปริมาณที่ต้องการ และยังต้องซื้อจากแหล่งอื่น อีกทั้งคู่แข่งทางการค้าก็มีจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบการตลาด ดังนั้น ทางกลุ่มฯ ควรหาแนวทางเสริมเพื่อให้สามารถดำรงกิจการต่อไปได้ เช่น การปรับเปลี่ยนรสชาติพริกแกงตามความต้องการของผู้บริโภค (ให้มีรสชาติจัดจ้านขึ้นตามแบบฉบับของอาหารภาคใต้พื้นเมือง) หรือการส่งเสริมให้เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล เป็นต้น
วันเสาร์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ ณ โรงเรียนสอนนวดและสปายกทิพ ภาคใต้ (ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน)
                    ศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหาร         จัดการทรัพยากรบุคคลภายหลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) แนวทางการแก้ไข ฟื้นฟู พร้อมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรค    ของธุรกิจภาคการบริการ
                   โรงเรียนสอนนวดและสปายกทิพ ภาคใต้ เปิดกิจการมากว่า 15 ปี ให้บริการนวดแผนไทยและเปิดสอนนวดไทย หลักสูตร 150 ชั่วโมง ระยะเวลาเรียน 1 เดือน ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดรับนักเรียนรุ่นละ 40 คน หากนักเรียนผ่านการเก็บเคสครบ 100 เคส ตามมาตรฐานหลักสูตร จะได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อนำไปปรับขึ้นค่าจ้างในระดับสูงได้ นักเรียนที่ผ่านหลักสูตรมีงานรองรับร้อยละ 100 ทั้งด้านสปาและโรงแรมในประเทศไทย และงานภาคบริการบนเรือสำราญในทวีปยุโรป
                   มาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นสิ่งสำคัญในอาชีพนวดแผนไทย ทำให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจว่าจะไม่ได้รับบาดเจ็บในการนวด และเป็นการนวดเพื่อบำบัดรักษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยครูผู้สอนซึ่งมีความรู้ในด้านกายวิภาคศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาธารณสุขศาสตร์ ภายใต้การติดตามและประเมินคุณภาพหลักสูตรของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันครูผู้สอนซึ่งมีความรู้จริงในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นหายากและเป็นที่ต้องการของโรงเรียน ทั้งนี้ ความมั่นใจประการหนึ่งของผู้ประกอบอาชีพนวดไทย คือ แรงงานหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถทดแทนแรงงานคนได้ เพราะแรงงานคนมีความใส่ใจและจิตบริการ หากได้รับการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นและความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะยิ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานของอาชีพนวดไทยในระดับสากล
                   คณะกรรมาธิการได้ให้ข้อเสนอแนะโดยเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในภาคการท่องเที่ยว เพราะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ภาคการท่องเที่ยวในอำเภอเกาะสมุยกลับมาฟื้นตัว จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพนวดแผนไทยกลับมาพัฒนาศักยภาพและฝีมือของตนเองให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินทางเข้าพื้นที่ อีกทั้งยังได้เน้นย้ำเรื่องการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ๓ กระทรวง โดยเฉพาะกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมเพื่อการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง และเปิดกว้างหลักสูตรสำหรับแรงงานโดยทั่วไปและแรงงานผู้สูงอายุ