• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

การประชุม คณะกรรมาธิการการแรงงาน วันจันทร์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา

คณะกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
               ๑. ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ได้ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
                   แรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอล จำนวนทั้งสิ้น 29,900 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไปทำงานในภาคเกษตรกร ส่วนของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศอิสราเอล
                   (๑) เดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 9,697 ราย
                   (๒) ยังอยู่ในประเทศอิสราเอล จำนวน 20,203 คน
                   (๓) เสียชีวิต จำนวน 39 ราย (นำร่างกลับมายังประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว)
                   (๔) บาดเจ็บ จำนวน 18 ราย (รักษาตัวในโรงพยาบาลในอิสราเอล จำนวน 3 ราย)
                   (๕) ถูกควบคุมตัว จำนวน 31 ราย ได้รับการปล่อยตัว จำนวน 23 ราย (เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว) และยังไม่ได้รับการปล่อยตัวอีก จำนวน 8 ราย

ในส่วนของโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล โดยแรงงานไทยจะได้รับเงินเยียวยา รายละ 50,000 บาท และมีแผนจะดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 จำนวนผู้มายื่นขอรับเงินเยียวยาทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 8,842 ราย (ของแรงงานไทย ที่เดินทางกลับ 9,697 ราย) อยู่ระหว่างตรวจสอบและพิจารณาเอกสาร 368 ราย ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงาน กระทรวง/จังหวัด 3,386 ราย (ไม่ผ่านการพิจารณา 1 ราย เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์การพิจารณา) โดยอยู่ระหว่างจัดส่งเอกสารให้ส่วนกลาง และส่วนกลางอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารและขออนุมัติจ่ายเงิน 3,309 ราย รวมทั้งได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิ/ทายาท 1,778 ราย
               ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลแรงงานที่เดินทางกลับด้วยตนเองและประสงค์ขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทย หลักฐานที่ใช้ ได้แก่ เอกสารการยืนยันตัวตน (หนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน) และหลักฐานการเดินทาง (บอร์ดิ้งพาส/ใบเสร็จ/บัตรโดยสารเครื่องบิน) โดยกระทรวงแรงงานจะเป็นตัวกลางในการรวบรวมเอกสารของแรงงานที่ยื่นคำร้อง เพื่อจัดส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ โดยกระทรวงต่างประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าบัตรโดยสารเครื่องบินดังกล่าว อีกทั้งในเรื่องของกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งยังอยู่ในความคุ้มครอง โดยเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างจากเหตุสงครามจ่ายเงินสงเคราะห์ รายละ 15,000 บาท และกรณีเสียชีวิตจะจ่ายเงินสงเคราะห์ จำนวน 40,000 บาท ให้กับทายาท รวมทั้งในกรณีโครงการเงินกู้ยืมที่ภาครัฐให้การสนับสนุนซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกระทวงการคลัง โดยกระทรวงคลังได้มีการยื่นขอมติจากคณะรัฐมนตรีต่อกรณีดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานแรงงานไทยจะได้กู้ยืมเงินในโครงการดังกล่าว
               อนึ่ง กรณีแรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับไปทำงานหรือแรงงานที่เตรียมจะเดินทางไปทำงานยังประเทศอิสราเอล ขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าสถานการณ์ในประเทศอิสราเอลมีความปลอดภัย จึงยังไม่สามารถส่งแรงงานไทยไปยังประเทศดังกล่าวได้ และยังไม่ทราบว่าจะเดินทางไปได้เมื่อใด แต่กระทรวงแรงงานก็ไม่ได้นิ่งเฉยมีความพยายามติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ต่อกรณีดังกล่าว รวมทั้งสถานการณ์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
               ๒. ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
                   กรณีแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอล ทางสถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล
ได้ทำงานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด โดยเฉพาะกรณีที่แรงงานไทยยังถูกจับเป็นตัวประกัน จำนวน ๘ ราย ซึ่งได้รับการยืนยันว่ายังมีชีวิตอยู่ จำนวน ๒ ราย ส่วนอีก จำนวน ๖ ราย ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเช่นไร และถูกจับกุมตัวจากกลุ่มใด ทั้งนี้ ผู้แทนจากสถานทูตไทยได้มีความพยายามในการเจรจาอย่างต่อเนื่อง และติดตาม
ความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดต่อกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ การเจรจาในเรื่องการปล่อยตัวประกันนั้น ถือว่ามิใช่เรื่องง่าย ๆ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ
อีกทั้ง กระทรวงการต่างประเทศมิได้นิ่งเฉย มีความพยายามในทุกช่องทาง เพื่อที่จะให้ปล่อยตัวประกันแรงงานไทยออกมา รวมทั้งการประสานกับมิตรประเทศขอความช่วยเหลือต่อกรณีดังกล่าว ทั้งในกรณีที่ยังมีแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศอิสราเอลนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับสถานทูตในประเทศอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพื่อนำแรงงานไทยที่ยังทำงานในประเทศดังกล่าวมาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย และให้ช่วยดูแลแรงงานไทยไม่ให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เป็นต้น
 
               ในการนี้ คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการทำงานร่วมกันอย่าง
บูรณาการและการทำงานที่มีประสิทธิภาพต่อกรณีดังกล่าว การประชาสัมพันธ์และการแจ้งความคืบหน้าการให้
ความช่วยเหลือแรงงานไทยเป็นระยะซึ่งต้องมีการช่วยแรงงานไทยได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งการจัดเก็บข้อมูลแรงงาน
ที่ไปทำงานในต่างประเทศถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และต้องมีแผนรับมือ อาทิ กรณีการอพยพแรงงานไปยังพื้นที่
ที่ปลอดภัย หรือพื้นที่หลบภัยเป็นต้น รวมทั้งการแสดงออกหรือท่าทีต่อกรณีดังกล่าวจะต้องมีความระมัดระวัง
เป็นอย่างมาก ทั้งนี้การติดตามสถานการณ์การปล่อยตัวประกันแรงงานไทยต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด อีกทั้ง
หากแรงงานกลับมายังประเทศไทยแล้วภาครัฐต้องมีแผนรองรับสำหรับการดูแลแรงงานไทยว่าควรดำเนินการอย่างไร อาทิ การหางานในประเทศ หรือการหางานในต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศอิสราเอล เป็นต้น