• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

การประชุม คณะกรรมาธิการการแรงงาน วันจันทร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา

๑. คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน
ตามที่คณะอนุกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนจากกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ในประเด็นการติดตามผลการดำเนินงานส่งเสริมแรงงานย้ายถิ่นกลับจากต่างประเทศให้นำความรู้ประสบการณ์การทำงานและเทคโนโลยีที่ได้รับมาพัฒนาและต่อยอด เมื่อวันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ นั้น จากข้อมูลที่ได้รับทราบ พบว่า แรงงานที่กลับมาจากประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะนำความรู้มาต่อยอดเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น รวมทั้งแรงงานที่กลับมาจากประเทศอิสราเอลจะนำความรู้มาต่อยอดเพื่อทำการทำเกษตรแบบทันสมัย เกษตรแบบผสมผสาน หรือเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากองค์ความรู้ที่ติดตัวมาจากการทำงานทั้งสิ้น ทั้งนี้หากสามารถสำรวจแรงงานที่กลับมาจากต่างประเทศจากส่วนกลางได้ และได้ข้อมูลที่ครบถ้วน อาจจะมีการพิจารณาในเรื่องการลงสำรวจแรงงานที่กลับมาจากต่างประเทศในพื้นที่อีกครั้ง อีกทั้งคาดการณ์ว่าจะพิจารณาศึกษาประเด็นดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเป็นลำดับต่อไป
๒ คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน
ตามที่คณะอนุกรรมาธิการได้มีการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาปัญหาและพัฒนาการนวดไทยเพื่อให้ได้มาตรฐาน และได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ นั้น ผลการเดินทางไปศึกษาดูงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อีกทั้งได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้นำมาวิเคราะห์ในการจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่าควรขอความอนุเคราะห์ข้อมูล เพื่อประกอบการจัดทำรายงานพิจารณาศึกษาฉบับดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อนึ่ง คณะอนุกรรมาธิการจะได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ในระหว่างวันพุธที่ ๓ ถึงวันศุกร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๗ เพื่อรับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงในประเด็นปัญหาและพัฒนาการนวดไทยเพื่อให้ได้มาตรฐานในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าเป็นประการใดจะได้นำเรียนต่อที่ประชุม ให้รับทราบในโอกาสต่อไป
๓. คณะอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ตามที่คณะกรรมาธิการการแรงงาน ได้มีมติให้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ต้องยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุหนักด้วยแรงกายตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) สำหรับแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ต่อที่ประชุมวุฒิสภา บัดนี้ได้รับการประสานจากสำนักการประชุมว่าพร้อมนำรายงานฉบับดังกล่าวเข้าบรรจุวาระการประชุมวุฒิสภา ในวันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๗ แล้ว ซึ่งในเบื้องต้นจะเป็นเรื่องที่สองของระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว อีกทั้งในวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา คณะอนุกรรมาธิการจะมีการประชุม เพื่อพิจารณาเตรียมความพร้อมและลำดับขั้นตอนในการนำเสนอรายงาน การพิจารณาศึกษาต่อที่ประชุมวุฒิสภา อนึ่ง การดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการในลำดับต่อไปจะเป็นการติดตามความคืบหน้าการเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคณะอนุกรรมาธิการจะได้มีการพิจารณาศึกษาแบบคู่ขนานไปพร้อมกับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าเป็นประการใดจะได้นำเรียนต่อที่ประชุมให้รับทราบในโอกาสต่อไป
๔. คณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม
๔.๑ การตรวจร่างรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทางเลือกเชิงนโยบาย : การประกันสังคมกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการเห็นว่าควรให้อนุกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการนำร่างรายงานกลับไปพิจารณา เพื่อความสมบูรณ์ ละเอียด และรอบคอบ ทั้งนี้ เมื่อตรวจทานแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะได้จัดพิมพ์และเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป
๔.๒ การพิจารณากรณีสถานภาพของกองทุนประกันสังคม โดยมีเรื่องน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับทิศทางกองทุนประกันสังคม ที่จะต้องทบทวนว่าวัตถุประสงค์หลักที่แท้จริงของกองทุนคืออะไร ระหว่างการขยายขนาดของกองทุน หรือการขับเคลื่อนนโยบายและภารกิจเพื่อประชาชน อย่างไรก็ดีจากผลการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ คาดว่าทิศทางและนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนกองทุนประกันสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งประเด็นการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมมีความคุ้มค่าหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการการมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณานั้น คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่า ความคุ้มค่าสามารถประเมินได้จากหลายปัจจัย ทั้งจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง งบประมาณที่ใช้ การประชาสัมพันธ์ หรือสื่อสารสังคม แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนที่ได้รับเลือกตั้งนั้น จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแก่กองทุนประกันสังคมอย่างไร สมกับเงินงบประมาณที่ใช้เพื่อจัดการเลือกตั้งหรือไม่ อันเป็นเรื่องที่คณะอนุกรรมาธิการจะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด อนึ่ง การประชุมครั้งต่อไป ในวันพุธที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ จะเชิญผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคมเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงในประเด็นความคืบหน้าการดำเนินการ ตามข้อเสนอแนะรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอ เชิงนโยบายการพัฒนาระบบประกันสังคมของประเทศไทย : กรณีผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา ๔๐