• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

การศึกษาดูงาน เรื่อง “สถานการณ์ด้านแรงงานในพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ระหว่างวันศุกร์ที่ 9 – วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 ณ จังหวัดปราจีนบุรี

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 (เวลา 10.00 - 11.45 นาฬิกา)
               - พบผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไปด้านแรงงาน การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกับจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน

                   1. กรณีปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยของสมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพา คณะอนุกรรมาธิการได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และได้ให้ข้อเสนอแนะในที่ประชุม 3 ประเด็น ดังนี้
                       1.1 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบ ควรมีการตั้งคณะทำงานและจัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน
                       1.2 เกษตรกรควรมีการปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงมีการปรับสภาพที่ดินให้สามารถใช้เครื่องจักร หรือรถตัดอ้อยได้
                       1.3 ควรมีการศึกษาและปรับเอานโยบาย/โครงการให้ยืมเครื่องมือทางการเกษตรของกระทรวงมหาดไทยมาใช้ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการจัดหาเครื่องจักรและเทคโนโลยี
                   2. จังหวัดปราจีนบุรีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ควรจัดให้มีการสำรวจความต้องการแรงงานและทักษะที่นายจ้างต้องการ ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตร และในกิจการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) หากมีการสำรวจอย่างจริงจังน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2 เดือน เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนและกำหนดนโยบายด้านแรงงาน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ หรือดึงทรัพยากรมาจากที่อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด
วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 (เวลา 14.00 – 15.30 นาฬิกา)
               - ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเสื่อกกของกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเสื่อกกบ้านบางพลวง อำเภอบ้านสร้าง
คณะอนุกรรมาธิการได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อการดำเนินงานของกลุ่มว่าควรเพิ่มช่องทางการทำการตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยตรงต่อความต้องการของกลุ่มผู้ซื้อ และควรเพิ่มกการประชาสัมพันธ์ที่ใช้จุดเด่นหรือเรื่องราวของกลุ่มวิสาหกิจฯ เป็นจุดขายสินค้า
วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 (เวลา 09.30 – 12.00 นาฬิกา)
                  - ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมสถานประกอบการประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ณ บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด อำเภอกบินทร์บุรี
คณะอนุกรรมาธิการได้แสดงความเห็นต่อการดำเนินงานด้านแรงงานของบริษัท คือ ควรให้ความสำคัญกับ PDPA (Personal Protection Data Act) หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น โดยให้พนักงานทุกคนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล และความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล 
วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 (เวลา 13.30 – 15.๐๐ นาฬิกา)
                  - ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมสวนผลไม้เพื่อรับฟังสภาพปัญหาจากเจ้าของสวนเกี่ยวกับการจ้างแรงงานและกรณีการปรับตัวของแรงงานภาคการเกษตร ณ สวนวันเพ็ญทุเรียนปราจีนบุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี
นางวันเพ็ญ  สนลอย เจ้าของสวนวันเพ็ญทุเรียนปราจีนบุรีและศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีส่วนใหญ่เป็นสวนขนาดเล็ก แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และสภาพดินในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี กลับทำให้ทุเรียนมีรสชาติที่โดดเด่นและแตกต่างจากทุเรียนในพื้นที่อื่นของภาคตะวันออก สำหรับสวนวันเพ็ญมีการปลูกทุเรียนมากกว่า 10 สายพันธุ์ ต้นที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุมากกว่า 60 ปี กระบวนการดูแลสวนทุเรียนจะมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ ไม่ใส่สารเคมี ใช้น้ำหมักชีวภาพในการบำรุงดินและต้นไม้ อีกทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) นางวันเพ็ญฯ ถือเป็น “นักวิทยาศาสตร์ชาวสวน” เนื่องจากมีความรู้เกี่ยวกับพืชและดินเป็นอย่างดี ได้มีการทดลองปรับปรุงดินโดยใช้สารชีวภาพที่คิดค้นด้วยตนเอง จนกระทั่งเป็นหมอดินและวิทยากรให้ความรู้ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และชุมชน
          นางวันเพ็ญ ได้ดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว โดยเป็นแกนหลักในการปลูกและบำรุงรักษาต้นทุเรียน รวมถึงมีการขยายไปทำธุรกิจการเพาะพันธุ์ทุเรียน รับจ้างปลูกและปรับปรุงดิน รวมถึงการทำน้ำหมักชีวภาพขาย ซึ่งมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในด้านการขายและการตลาดออนไลน์จะมีบุตรสาวของนางวันเพ็ญที่จบการศึกษากลับมาช่วยงานที่บ้าน นอกจากนี้ ยังได้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชามาช่วยงานในสวนประมาณ 2 - 3 คน เนื่องจากสวนของนางวันเพ็ญมีการวางระบบน้ำไว้อย่างดี จึงไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ยกเว้นในขั้นตอนของการเพาะพันธุ์ทุเรียนเพื่อขายที่ต้องอาศัยแรงงานมาช่วยเปลี่ยนถุงดำและขั้นตอนการใช้แรงเพื่อขนย้ายผลผลิต สำหรับการวางแผนในอนาคตงานด้านการเกษตรของสวนนี้ยังคงรักษาทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่หายากไว้ รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรคนอื่น ๆ ใช้น้ำหมักหรือสารชีวภาพในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีต่อไป พร้อมกับการรักษาสภาพแวดล้อมที่เป็นต้นทุนในการเกษตรในอนาคตด้วย