• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

การศึกษาดูงาน เรื่อง “สถานการณ์ด้านแรงงานและการส่งเสริมการจ้างงานด้านการท่องเที่ยว ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)” ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ ๕ – วันเสาร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ณ จังหวัดน่าน

                    สถานการณ์การแพร่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและภาคส่วนในสังคมนั้นมีความหลากหลาย ธุรกิจทุกขนาดได้รับผลกระทบโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งรับผลกระทบจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและนันทนาการ รวมทั้งความจำเป็นที่ต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจออนไลน์หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าบริการซึ่งย่อมมีต้นทุนที่พ่วงมาด้วย ส่งผลต่อพนักงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ มาตรการที่เกี่ยวข้องสร้างผลกระทบให้กับกลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและพึ่งพาการทำงานที่ใช้แรงงาน หรืออยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ หรือไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชายเพราะผู้หญิงทำงานในภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
                   การฟื้นคืนผู้ประกอบการในด้านการท่องเที่ยวมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก อีกทั้งการส่งเสริมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้มรดกทางวัฒนธรรม สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้การวางแผนเพื่อการฟื้นคืนยังมีประสิทธิภาพ จึงต้องคำนึงถึงรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถส่งเสริมให้การฟื้นคืนมีความยั่งยืนโดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ การที่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นได้ ดังนั้น การจัดทำแผนฟื้นคืนการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงมีบทบาทสำคัญมาก และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ ๘ : ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน) มีตัวชี้วัดที่สำคัญในด้านการมีการวางแผนและดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ อีกทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ ๑๒ : สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายย่อยในการพัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือติดตามผลกระทบการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

                   ​การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จึงต้องออกแบบโครงการให้มีความสำคัญกับวิธีวิทยาแบบบูรณาการศาสตร์ที่ผสานความรู้ความเชี่ยวชาญหลากหลายแขนงเข้าด้วยกัน และตระหนักถึงห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ วิเคราะห์ แยกแยะกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายและสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และด้วยเหตุผลดังกล่าวประชาคมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับศตวรรษที่ ๒๑ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น เน้นใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่จับต้องไม่ได้เพื่อนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายออกแบบการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในกระบวนการผลิตการท่องเที่ยวสู่พื้นที่ เพื่อช่วยเสริมช่องทางด้านอาชีพให้กับผู้สูงอายุ (Aging in place) อีกด้วย
                   จังหวัดน่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพในด้านการฟื้นคืนการจ้างงานด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในด้านการประกอบอาชีพส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งประกอบอาชีพด้านการเกษตร อย่างไรก็ดีผู้ที่มีอาชีพด้านกลุ่มให้บริการที่พักแรมและการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับอาชีพด้านการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลการสำรวจการทำงานของประชากรในจังหวัดน่านปี ๒๕๖๐ ไตรมาสที่ ๓ ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร การให้บริการที่พักแรมและการให้บริการอาหาร คิดเป็นจำนวน ๑๓๑,๔๕๕ คน จากจำนวนประชากรทำงานในจังหวัดน่าน ๒๓๙,๗๕๘ คน อีกทั้งเป็นหนึ่งในจังหวัดซึ่งมีโครงการพัฒนาที่ตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัดน่าน “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ การเกษตรมั่งคั่ง ชุมชนเข้มแข็ง ท่องเที่ยวยั่งยืน” (แผนปฏิบัติราชการของจังหวัดน่าน ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕) ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมอาชีพด้านการท่องเที่ยวลักษณะมอบประสบการณ์ในแบบวิถีชุมชน แนวความเป็นไปได้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาศักยภาพได้ นอกจากนี้ ในด้านโครงสร้างประชากรกว่าร้อยละ ๒๗ ของประชากรอายุระหว่าง ๔๕-๕๙ ปี อยู่ในช่วงของผู้สูงอายุสำรองฯ และร้อยละ ๒๕ มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างโอกาสการทำงานให้กับผู้สูงอายุ โดยร้อยละ ๓๗ ทำงานส่วนตัวไม่มีลูกจ้างและร้อยละ ๓๒ ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง สถานะการจ้างงานนี้ชี้ให้เห็นถึงขนาดการทำงานขนาดใหญ่ในภาคการจ้างงานระดับบุคคลและระดับครัวเรือน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรกับด้านการท่องเที่ยวให้เกิดการจ้างงานในชุมชน