• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

การศึกษาดูงาน เรื่อง “การบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC” ระหว่างวันพุธที่ ๒๖ – วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง

วันพุธที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ ศูนย์ Lumada ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด  นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี
                บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวศูนย์ Lumada ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เพื่อนำเสนอแพลตฟอร์มแก่ลูกค้าในประเทศไทย และส่งเสริมการเติบโตตามโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นบริษัทในการสนับสนุนระดับประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ จากการนำความสำเร็จในการพัฒนา Internet of Things (IoT) โซลูชันจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา มารวมกัน โดยลักษณะเด่นของศูนย์ คือ IoT แพลตฟอร์มของฮิตาชิ Lumada มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงของฮิตาชิผ่านการเชื่อมต่อและวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า สนับสนุนการสรรค์สร้างร่วมกัน และสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น กระบวนการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology - ICT) ศูนย์ Lumada ช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างโซลูชันดิจิทัลจากการร่วมกันคิดสร้างสรรค์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจที่แตกต่างกันไป และด้วยการใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลและเครื่องมือ AI ของศูนย์ จะสามารถขับเคลื่อนการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์และเชิงแก้ไขปรับปรุง ซึ่งฮิตาชิตั้งเป้าที่จะเข้าถึงโรงงานทั่วประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเชิงปฏิบัติการโซลูชันของศูนย์นี้ รวมถึงกระบวนการวิเคราะห์ AI และการสนับสนุนการใช้งานผ่านความสามารถด้าน IoT เช่น การตรวจสอบจากระยะไกล เป็นต้น โดยเป็นเจตนารมณ์ของฮิตาชิในการสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนให้ค้นพบแนวทางแก้ไขความท้าทายทางธุรกิจและทางสังคม

 
วันพุธที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ณ โชว์รูมตู้คอนเทนเนอร์ Net Zero บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี
               โชว์รูมตู้คอนเทนเนอร์ Net Zero ถือเป็นโซลูชันสถานีรถยนต์ EV โซลูชันอาคารอัตโนมัติ ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ คุณภาพอากาศภายในอาคาร หน้าจอดิสเพลย์ และอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่ โชว์รูมตู้คอนเทนเนอร์แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของเดลต้าในเรื่อง “Smart Wellbeing” สำหรับอาคาร ด้วยโซลูชันการจัดการอาคารของเดลต้าที่ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ควบคุมห้องและแผงควบคุมเพื่อจัดการระบบไฟและอุณหภูมิผ่านโปรโตคอล BACnet และตรวจสอบคุณภาพอากาศด้วยเซ็นเซอร์ผ่านโปรโตคอล MODBUS ซึ่งระบบอาคารอัตโนมัติของเดลต้า ประกอบด้วย กล้องอัจฉริยะจดจำใบหน้าและการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย การป้องกันโควิด-19 และการระบายอากาศของแผ่นกรอง HEPA เพื่อให้อากาศปราศจากมลภาวะบริสุทธ์ และช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ และ PM2.5 โดยผลิตภัณฑ์หลักในโซลูชันนี้ ได้แก่ (๑) อุปกรณ์ควบคุมห้องโดย LOYTEC บริษัทในเครื่องเดลต้า (๒) ระบบตรวจสอบและจดจำใบหน้าจาก VIVOTEK (๓) กล้องตรวจจับและควบคุมจำนวนคนและกล้องเฝ้าระวังแบบพาโนรามา (๔) เครื่องแลกเปลี่ยนอากาศ (ERV) ด้วยแผ่นกรอง HEPA + อุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคาร Uno Next และ (๕) ไฟ LED สำหรับอุตสาหกรรมและไฟถนน LED ประสิทธิภาพสูง 
                ผลการศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับความเป็นมาของโรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart factory 4.0 ซึ่งเป็นการนำระบบปัญญาประดิษฐ์อัตโนมัติ (AI) และหุ่นยนต์เข้ามามีส่วนร่วมในส่วนต่าง ๆ ได้แก่
                   ๑. ศูนย์ Lumada ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
                   ๒. โชว์รูมตู้คอนเทนเนอร์ Net Zero ณ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ
                   (๑) โรงงานอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉลี่ยยังมีระดับ 1 - 2 ซึ่งการพัฒนา Ecosystem ด้านเทคโนโลยีทั้ง Hardware และ Software จะช่วยยกระดับให้เข้าสู่ Industry 4.0 ได้
                   (๒) พื้นที่ EEC มีการสร้างและพัฒนา Ecosystem ความพร้อมด้านเทคโนโลยีในการปรับเปลี่ยนเป็น Industry 4.0
                   (๓) มีการพัฒนาที่ตอบสนองต่อนโยบาย BCG Model , Digital Economy และ Net Zero
                   (๔) มั่นใจว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้การจ้างงานหายไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในทางตรงข้ามจะเกิดการยกระดับทักษะฝีมือ เกิดงานใหม่ ๆ และมีการจ้างงานใหม่

 
วันพุธที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ นาฬิกา ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา
               คณะเดินทางได้เข้าพบ นายอภิชาต  ทองอยู่ ประธานคณะทำงานด้านพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Human Development Center : EEC-HDC) พร้อมคณะทำงาน เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตามแนวทาง EEC Model รวมทั้งขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นดังต่อไปนี้
               ๑. การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนากำลังคน รวมถึงการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานแรงงานในพื้นที่ EEC
                   ๑.๑ ผลการดำเนินงานของ EEC Model Type A และ Type B ในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานทั้งในเชิงนโยบายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และการจัดสรรงบประมาณ รวมถึงความร่วมมือจากสถานประกอบการและแรงงานในพื้นที่อย่างไร
                   ๑.๒ ความท้าทายในการจับคู่สถานศึกษากับสถานประกอบการทั้งในและนอกวง EEC               
                   ๑.๓ ความคุ้มค่าและความสูญเปล่าในการลงทุนกับการฝึกอบรม Type A และ Type B
                   ๑.๔ ในอนาคตหากมีการขยาย EEC Model Type A ไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ควรทำอย่างไร
                   ๑.๕ ภายหลังจากโควิด-19 อาจต้องปรับเปลี่ยนการอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นเสียค่าใช้จ่ายร้อยละ ๕๐ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และภาครัฐควรมีบทบาทในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวอย่างไร
                   ๑.๖ การทำ Skill Tag จะเป็นทางออกในการพัฒนาแรงงานในอนาคตได้หรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไร
               ๒. ในช่วง ๕ ปีข้างหน้า การบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานแรงงานของพื้นที่ EEC ควรเป็นอย่างไร
               ๓. ประเด็นเทคโนโลยี ทักษะ และประสบการณ์ต่อการนำไปพัฒนาแรงงานในอนาคต ๕ ปีข้างหน้า
                    ๓.๑ ทักษะแรงงานที่จำเป็นควรมีอะไรบ้าง
                    ๓.๒ เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนหรือลดจำนวนคนงานในงานลักษณะใด และสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาทำงานร่วมกับคนได้ในงานลักษณะใด
                    ๓.๓ วิธีการพัฒนาคนให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี เครื่องจักร ควรเป็นอย่างไร
                    ๓.๔ วิธีการทำงานระหว่างรุ่น (Intergenerational teamwork) ควรเป็นอย่างไร “เมื่อลุงมีประสบการณ์ และหลานมีเทคโนโลยี”
               ๔. ความก้าวหน้าและความท้าทายในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของ EEC หรือ “EEC มีงานทำ”
                    ๔.๑ การเชื่อมฐานข้อมูล/เข้าถึงข้อมูลผู้จบการศึกษาในสถานศึกษา ทั้งในและนอกวง EEC        
                    ๔.๒ การเชื่อมฐานข้อมูลสถานะการทำงานและทักษะที่มีของแรงงาน
               ๕. ความท้าทายของการวิจัยพื้นฐาน/ต่อยอด/เชื่อมโยงในการตอบโจทย์ผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง

ผลการศึกษาดูงานร่วมกับคณะทำงาน EEC-HDC มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ
                   (๑) การอบรมพัฒนาทักษะแรงงานในสถานประกอบกิจการยังคงเป็นแนวทางหลักและมีปัญหาอุปสรรคเรื่องผู้เชี่ยวชาญการสอนในสถานศึกษา
                   (๒) แรงงานใหม่ควรต้องได้รับการสร้างทักษะพื้นฐานอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ ภาษาและการสื่อสาร, STEM & ART และ Coding
                   (๓) ในระยะสั้น มีความสำเร็จของการฝึกอบตามแนวทาง EEC Model Type A, B, C             
                   (๔) Model การพัฒนาที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการและเพิ่มเติมใน New S-Curve คือ EV Conversion ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญไปสู่ Green Economy และ Net Zero               
                   (๕) ปัจจุบันมีการคาดประมาณจำนวนความต้องการแรงงานโดยใช้ Expert Consultation ซึ่งใช้ประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ ในอนาคตจะใช้ตัวเลขจากฐานข้อมูล “EEC มีงานทำ” เป็นฐานการคาดประมาณจำนวนความต้องการแรงงาน และนำไปสู่การพัฒนา Supply
 
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ (จังหวัดระยอง) เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๑.๐๐ นาฬิกา ณ นิคมอุตสาหกรรม WHA บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
               ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านโลจิสติกส์ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และบริการโซลูชันแบบครบวงจรสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกอบด้วย ๔ กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้
               กลุ่มธุรกิจพัฒนาโลจิสติกส์ มุ่งให้บริการศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้า และโรงงานแบบ Built-to-Suit แบบพรีเมียมแก่ลูกค้า โดยบริษัทเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการสร้างอาคารอุตสาหกรรม Built-to-Suit มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ปัจจุบันมีพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานแบบ Built-to-Suit รวมทั้งสิ้นกว่า ๒.๗ ล้านตารางเมตร บนทำเลที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์กว่า ๔๘ แห่งทั่วประเทศ
               กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมคุณภาพระดับโลก ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนต์ มีทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมถึงบริการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้นกว่า ๑๒ แห่งบนพื้นที่กว่า ๖๘,๔๐๐ ไร่ โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยที่จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี (ในพื้นที่ EEC) และสระบุรี คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตส่งเสริม ๑๐ เป็นทางการให้นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ
               กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ในฐานะผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการร่วมลงทุนด้านไฟฟ้ากับผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชั้นนำของโลก ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จึงสามารถสร้างความมั่นใจในการให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีกำลังการผลิตน้ำรวมถึง ๑๕๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม ๖๑๐ เมกะวัตต์
               กลุ่มธุรกิจดิจิทัล ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างครบครัน บริการไฟเบอร์ออปติก ตลอดจนมีการลงทุนด้านดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจเชิงอัจฉริยะของลูกค้า ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
               สำหรับการพัฒนาบุคลากรในองค์กรนั้น ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานอย่างสม่ำเสมอโดยจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและต่อยอดการทำงานในตำแหน่งที่ต้องใช้ศักยภาพสูงต่อไป รวมทั้งการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมเยาวชนที่ความสามารถแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อมอบโอกาสในการเติบโตด้านอาชีพโดยร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง สนับสนุนนักศึกษาโครงการศึกษาระบบทวิภาคี มอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง เป็นทุนสำหรับระดับ ปวช. ปวส. และมหาวิทยาลัย ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินการ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ให้การสนับสนุนเยาวชนมากกว่าร้อยคน นอกจากโครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาแรงงานเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และประสานงานกับกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ เพื่อมอบโอกาสให้แก่เยาวชนนักเรียนทุนได้เข้าฝึกปฏิบัติงานระหว่างเรียน อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีนักเรียนอีกจำนวนมากที่มีความสามารถแต่อาจขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษาต่อ การจัดตั้งโครงการมอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นส่วนช่วยพัฒนาและต่อยอดความสำเร็จให้แก่เด็กเหล่านั้น รวมถึงเป็นการช่วยผลักดันการสร้างแรงงานคุณภาพสูงให้กับตลาดแรงงานไทยในอนาคต


วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ (จังหวัดระยอง) เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๒.๐๐ นาฬิกา ณ บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด
               โรงงาน บ๊อช ได้รับรางวัล Prime Minister’s Industry Award 2022 ด้าน “การจัดการความปลอดภัย” (Safety Management Category) ดีเด่นประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งสะท้อนความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยของโรงงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยตามมาตรฐานสูงสุดจากเยอรมนีมาใช้ โรงงานแห่งนี้จึงมีความปลอดภัยสูงสุด โดยที่ผ่านมาโรงงานสามารถลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในสายการผลิตได้เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมธุรกิจ ๔ กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีโซลูชันการขับเคลื่อน สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีพลังงานและอาคาร และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยโรงงาน บ๊อช ในนิคมฯ เหมราช จังหวัดระยอง ได้มีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและมีการขยายตัวเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดที่หลากหลาย ทั้งนี้ หนึ่งในอาคารโรงงาน บ๊อช เหมราช ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการป้องกันการระเบิดตามมาตรฐานสูงสุดของประเทศเยอรมนี การติดตั้งระบบอัตโนมัตินี้ช่วยให้พนักงาน

               ลดความเสี่ยงในสายการผลิตได้อีกด้วย โดยเชื่อว่าความโปร่งใสเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้สถานที่ทำงานปลอดภัย คือเหตุผลที่เครื่องมือในการตรวจสอบและรายงานความปลอดภัยของโรงงานมีมาตรฐานและตรงไปตรงมา รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามระเบียบนโยบายบริษัทอย่างครอบคลุมในทุกมิติ
               ด้านการทำงานบริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของพนักงานทุกคนโดยเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ริเริ่ม และส่งเสริมศักยภาพด้านทักษะให้แก่แรงงานทุกระดับตามขีดความสามารถของแต่ละคน รวมถึงการพัฒนาพนักงานทุกรูปแบบทั้งการพัฒนาความรู้และการพัฒนาส่วนบุคคลในช่วงเวลาทำงาน โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานทุกคน ซึ่งมีตัวเลือกการฝึกอบรมระดับชั้นนำในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์และการระดมความคิดไปจนถึงความร่วมมือ ซึ่งพนักงานทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยหลักสูตรออนไลน์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกฟรี โดยศูนย์การเรียนรู้ในองค์กรเป็นที่ที่สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในอนาคต แนวทางปฏิบัติเชิงนวัตกรรม ทักษะความเป็นผู้นำจากสภาพแวดล้อมทางวิชาการที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญของบ๊อชทั่วโลก และในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในรูปแบบโปรแกรมต่าง ๆ ไปจนถึงการประชุม/สัมมนาในประเทศและต่างประเทศ


ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ
               (๑) ประเทศไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะการในบริหารจัดการในนิคมอุตสาหกรรมได้ดี ถือเป็นการพัฒนา Ecosystem ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้เป็นอย่างดี
               (๒) มีแนวทางในการพิจารณาผู้สมัครงานโดยมองจากความคิดหรือทัศนคติต่อการทำงาน (Mindset) เพื่อดูการปรับเปลี่ยนความคิดของคน ๆ หนึ่งให้เป็นโซลูชันที่ประสบความสำเร็จและพร้อมสำหรับตลาด โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับโครงการในอนาคต ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดขององค์กรจะตอบสนองต่อความกระตือรือร้นของสตาร์ทอัพได้
               (๓) การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมและอาชีพที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และยังสามารถเปลี่ยนวิธีการผลิต การบริโภคและการใช้ชีวิต บริษัทจึงได้มอบเครื่องมือในการเรียนรู้ ทุนการศึกษา และช่วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนกับสถาบันวิชาชีพและสถาบันขั้นตติยภูมิในการยกระดับการศึกษาและทักษะให้แก่นักเรียนและแรงงานท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเด็กที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์ประโยชน์และสร้างความแตกต่างเชิงบวกให้กับประเทศผ่านนวัตกรรม
              (๔) หน่วยงานภาครัฐขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงาน อาทิ เรื่องการจัดฝึกอบรมร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน หรือการสนับสนุนมาตรการทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ ฯลฯ


วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๑๕ – ๑๕.๔๕ นาฬิกา ณ บริษัท เอส เอ็น ซี ไพยองซาน อีโวลูชั่น จำกัด
              บริษัท เอส เอ็น ซี ไพยองซาน อีโวลูชั่น จำกัด โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทประกอบธุรกิจหลักในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ตลอดจนชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศในรถยนต์ เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์โดยตรง หรือจำหน่ายให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในรถยนต์เพื่อนำไปประกอบเป็นชุดเครื่องปรับอากาศที่สมบูรณ์ก่อนส่งต่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ กลุ่มบริษัทมีฐานการผลิต ๒ แห่ง ประกอบด้วย โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดระยอง ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ มีความสะดวกทั้งในด้านการขนส่งวัตถุดิบ และการขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทรับจ้างผลิตและประกอบในงานหลากหลายประเภท เช่น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น ตู้เก็บเครื่องมือ เป็นต้น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เครื่องจักรที่ทันสมัย ระบบการผลิตที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสายการผลิตที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งงานประเภทพลาสติก เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม และประสบการณ์ในการทำงานของทีมผู้บริหารและทีมวิศวกร ประกอบกับความยืดหยุ่นของสายการผลิตทำให้กลุ่มบริษัทได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยม รวมถึงเจ้าของแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศที่ต้องการหาผู้ผลิตสินค้า
             ในด้านการพัฒนาบุคลากร บริษัทให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาทักษะความรู้เพิ่มเติมให้แก่พนักงานทุกคนที่ต้องการพัฒนาตนเองไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะอาชีพเพื่อต่อยอดไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา หรือการเรียนรู้ในสายงานอื่น โดยบริษัทส่งเสริมและสนับสนุนด้านทุนการศึกษาให้แก่พนักงานโดยไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ แก่พนักงาน ซึ่งพนักงานที่ได้รับทุนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำงานต่อหรือนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในสายงานประเภทอื่นได้ตามความต้องการ และสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษา อาทิ การมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กโดยให้ทุนการศึกษาและส่งเรียนในระดับปริญญาตรี-ปริญญาโท การจัดตั้ง “ARAI Academy” ซึ่งเป็นระบบการศึกษาใหม่ที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้ภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาระดับอาชีวะและอุดมศึกษามีประสบการณ์ตรง สามารถปรับศักยภาพพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มวิศวกรรมจนถึงโลจิสติกส์ในแพลตฟอร์ม 4.0 ซึ่งใช้ระบบการสื่อสารเชื่อมระบบงานในโรงงานด้วย 5G บนระบบคลาวด์ โดยจัดแบ่งพื้นที่การเรียนรู้เรื่อง Factory 4.0 ออกเป็น ๓ พื้นที่ขนาดใหญ่ ได้แก่ (๑) ห้องปฏิบัติการเรียนรู้ระบบออโตเมชัน โรโบติกส์ เอไอ และไอโอที (๒) พื้นที่การเรียนรู้เรื่อง Mini Industries 4.0 เพื่อช่วยพัฒนาทักษะและระบบการผลิตให้กับกลุ่ม SMEs และ (๓) กลุ่มงานรีโทรฟิต ซ่อมสร้าง-ยกระดับเครื่องจักรที่ล้าสมัยใช้งานไม่ได้ให้เป็นเครื่องจักรที่กลับมาใช้ได้ และพัฒนาให้ดีขึ้นทำงานได้หลากหลายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

               ผลการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี 5G กับระบบ Automation ใน Smart Factory และเยี่ยมชม ARAI Academy ที่มีการฝึกอบรมแรงงานตาม EEC Model Type B ณ บริษัท เอส เอ็น ซี ไพยองซาน อีโวลูชั่น จำกัด

ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ
               (๑) บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนเป็นอย่างมาก
               (๒) มีข้อเสนอเรื่องการผลิตนักเรียนอาชีวะศึกษาให้มีพื้นฐาน ๑๑ สมรรถนะ (Competency) ที่สามารถทำงานได้ทันที หรือเพียงต่อยอดเฉพาะทางไม่มากนัก
               (๓) มีการพัฒนาแรงงานเกี่ยวกับระบบ Automation โดยสถานประกอบกิจการอย่างเข้มแข็ง
               (๔) มีความร่วมมือด้านความรู้เทคโนโลยีภายในกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs
               (๕) มีการกระจายผลประโยชน์ไปยังชุมชนรอบข้างสถานประกอบกิจการ
               (๖) เร่งพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรม EV Conversion