• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ข่าวสาร

 

สัมมนา เรื่อง "ผู้สูงอายุกับงานที่มีคุณค่าในยุคโควิด-19" วันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565

ส่วนที่ 1 : ความสำคัญและความท้าทายในการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่า (Decent work) ของผู้สูงอายุ 
               
 (1) 
การเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างรวดเร็วของไทยภายใน 10 ปีนี้ กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ที่จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 30 ในขณะที่อัตราการเกิดลดต่ำลงอย่างมาก (เฉพาะในปี 2564 จำนวนการตายสูงกว่าการเกิด) ทำให้จำนวนประชากรที่จะเข้าสู่วัยแรงงานน้อยลง และยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคต่างๆ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
                 (2) 
การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในการทำงานที่จะมีการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นและเร็วขึ้น ทำให้คนทำงานต้องพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกลุ่มวัยแรงงานตอนปลายและแรงงานสูงอายุต้องประสบปัญหาการปรับตัวมากกว่ากลุ่มอื่น เพื่อให้ยังสามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้ แม้แต่ในกลุ่มที่ทำงานบนฐานของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืองานหัตถกรรมต่างๆ ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยแพลตฟอร์มออนไลน์มาเป็นตัวช่วยในการเชื่อมต่อผู้สูงอายุเข้ากับตลาดสินค้าและผู้บริโภค
                 (3) การดำเนินงานเพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะผู้สูงอายุของไทย ยังมีช่องว่างในการดำเนินการอยู่หลายประการ ทั้งในด้านงบประมาณส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพภายใต้แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่มีเพียงร้อยละ 4-5 ประกอบกับการกระจายตัวของโครงการและงบประมาณ ก็กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดขนาดใหญ่ของแต่ละภูมิภาค ในขณะที่การขับเคลื่อนงานพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ยังมีโมเดลความสำเร็จอยู่น้อย

ส่วนที่ 2 : ข้อเสนอแนะต่อการเชื่อมโยงการทำงานเพื่อบูรณาการส่งเสริมศักยภาพและการทำงานของผู้สูงอายุ

                  (1) การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่การรวบรวมโครงการมาของบประมาณเท่านั้น แต่ต้องมีเครื่องมือ/กลไกที่ช่วยให้การบูรณาการการทำงานเกิดขึ้นได้จริง ทุกหน่วยงานมีเป้าหมายเดียวกัน ร่วมคิด ร่วมออกแบบนโยบาย และร่วมปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย บนฐานของความเชี่ยวชาญในแต่ละหน่วยงาน
                  (2) การจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุแบบบูรณาการและครบวงจร ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การส่งเสริมการจ้างงานและการทำงาน รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมที่ผู้สูงอายุต้องได้รับ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการแก้ไขปัญหาให้กับผู้สูงอายุได้อย่างตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ
                  (3) การกำหนดให้ "การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานสูงอายุ" เป็นวาระสำคัญเร่งด่วน ที่ต้องมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน และมีการจัดสรรงบประมาณเฉพาะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม
                  (4) การกระตุ้นและสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการวางแผนและเพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยใช้มาตรการทางภาษี รวมถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณอื่นๆ จูงใจให้มีการสร้างงานและการจ้างงานผู้สูงอายุในตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง
                  (5) การสนับสนุนให้ชุมชน และภาคประชาสังคมในท้องถิ่น โดยเฉพาะชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มกิจการเพื่อสังคม มีความเข้มแข็งทั้งในแง่ของประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และมีงบประมาณที่เพียงในการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่         
                  (6) การเร่งเตรียมความพร้อมในทุกมิติให้กับกำลังแรงงานทุกช่วงวัย ทั้งในด้านสุขภาพ การออม การพัฒนาทักษะฝีมือ รวมถึงการพัฒนากรอบความคิดและทัศนคติ (mindset) ที่พร้อมต่อการเรียนรู้และการปรับตัวตลอดช่วงชีวิต เพื่อให้สามารถทำงานอยู่ในตลาดแรงงานได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยที่ผลิตภาพแรงงานและประสิทธิภาพในการทำงานไม่ลดลง