• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว"

คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการเด็กและเยาวชน จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว" 

วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.10 นาฬิกา ณ ห้อง 2501 ชั้น 25 อาคารสุขประพฤติ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการเด็กและเยาวชน จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว" โดยมีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยการจัดเสวนาดังกล่าว มีคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และผู้แทนบ้านพักเด็กและครอบครัว เข้าร่วมสัมมนา
     ด้าน นายวัลลภ กล่าวว่า จากสถานการณ์การกระทำความรุนแรงต่อเด็กและครอบครัวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เป็นการกระทำจากคนในครอบครัวส่งผลให้เด็กตกเป็นเหยื่อจากการกระทำความรุนแรงทั้งในครอบครัวและในที่สาธารณะ ซึ่งจากการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปแนวทางการป้องกันแก้ไข ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว ออกมา 3 แนวทางคือ แนวทางการค้นหาข้อเท็จจริงจากผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ แนวทางการช่วยเหลือเยียวยา และแนวทางการป้องกัน โดยได้เชิญหน่วยงานหลายภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมาร่วมกันระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางในการป้องกันแก้ไข และสร้างเครือข่ายความร่วมมือการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในเด็กและบุคคลในครอบครัว
     นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่าในส่วนมิติของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นหลักการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามหลักของกฎหมาย โดยปัญหาส่วนใหญ่เด็กที่ถูกล่วงละเมิดมักจะเกิดจากคนในครอบครัว หรือบุคคลคุ้นหน้า ซึ่งตามกฎหมายได้ให้อำนาจศาลสามารถเพิกถอนอำนาจปกครองของพ่อและแม่ที่มีลักษณะการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งหากคนในครอบครัวมีพฤติกรรมดังกล่าว สามารถขออำนาจศาลออกอำนาจคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กให้มีความปลอดภัยจากบุคคลใกล้ตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นคำสั่งที่จะเป็นการป้องกันการทำความผิดซ้ำ ไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ 
     ด้าน แพทย์หญิง วนิดา เปาอินทร์ กุมารเวช เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการรณรงค์ให้เกิดผู้พิทักษ์เด็กและเยาวชน ต้องจัดให้มีระบบการจัดการให้คำปรึกษาที่ดีแก่เด็ก อีกทั้งระบบการศึกษาต้องปลอดความรุนแรง และต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน สร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข สื่อสำหรับครอบครัวควรทำออกมาให้มีความน่าสนใจเข้าถึง บทบาทของการเยียวยาภายหลังเกิดปัญหาขึ้นกับเด็กและเยาวชน ควรมีมาตรการเยียวยาในระยะยาว 
     อย่างไรก็ตาม ในการเสวนาโต๊ะกลมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะมีการรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งหาแนวทางในการบูรณาการและประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชนให้มีความเหมาะสมต่อไป