จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ว่าแผนปฏิรูปด้านพลังงาน ประเด็นปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ผลการดำเนินงานมีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดความคืบหน้าการดำเนินการกิจกรรมที่ 1 - 6 มีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับใกล้เคียงการบรรลุเป้าหมาย โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลกระทรวงพลังงานกับหน่วยงานต่าง ๆ การจัดตั้ง NEIC โดยคณะกรรมการปฏิรูปมีมติให้ปรับ Roadmap จัดตั้งต้องสิ้นสุดในปี 2565 (หากประเมินไม่ผ่านต้องจัดทำกฎหมายให้แล้วเสร็จใน 2565 และแยกเป็นศูนย์อิสระในปี 2566) ซึ่งแนวโน้มการดำเนินการในภาพรวมมีความเหมาะสม การบริหารจัดการมีการบูรณาการระหว่างส่วนราชการเมื่อดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด จะทำให้ประเทศไทยมีศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารและทันต่อสถานการณ์ ข้อมูลที่โปร่งใส มีความแม่นยำ ถูกต้อง เข้าใจง่าย เชื่อถือได้และใช้อ้างอิงได้ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็วจะทำให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น ลดความสับสน ลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ โดยควรมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

     อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติมีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงพลังงาน และการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคมาใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายระหว่างหน่วยงานต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น การออกแบบระบบและเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านพลังงานระหว่างหน่วยงานจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิทยาการ ทั้งในด้านพลังงานและเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น การที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของประเด็นการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ จะต้องกำหนดให้เป็นประเด็นในเชิงนโยบาย โดย สนพ. ต้องมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรวบรวมแนวทางรายละเอียดที่ต้องดำเนินการต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงกฎหมาย ขั้นตอนกระบวนการในการเชื่อมโยงข้อมูลและบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและจัดทำเป็นข้อเสนอของกระทรวงพลังงานเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป  

ข้อเสนอแนะและแนวทางเร่งรัดการดำเนินการ

กระทรวงพลังงานควรเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ดังนี้
     1) ด้านบุคลากร  เนื่องจากปัจจุบัน สนพ. เป็นองค์กรขนาดเล็กจำนวนบุคลากรจึงไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน NEIC รวมทั้งยังขาดบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของ NEIC อาทิ ด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) ด้านวิศวกรรมข้อมูล (Data Engineer) และการวิเคราะห์เชิงลึก (Data Analytics) เป็นต้น
     2) ด้านงบประมาณ  ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนให้การดำเนินงานของ NEIC เป็นไปตามเป้าหมายตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กระบวนการดังกล่าว มีระยะเวลาในการพิจารณา ซึ่งอาจส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้
     3) การเชื่อมโยง ข้อมูลต้องอาศัยระยะเวลาในการหารือรายละเอียดในแต่ละชนิดข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) รวมทั้งรูปแบบและเทคโนโลยีที่ใช้ที่ต้องสอดรับกันทั้งหน่วยงานเจ้าของข้อมูลและ NEIC เพื่อให้การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นแบบอัตโนมัติให้มากที่สุด
     4) การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของประเด็นการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ควรกำหนดให้เป็นประเด็นในเชิงนโยบายระดับชาติ โดยมีการขับเคลื่อนการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่
         - การจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล Big Data ของพลังงานอย่าง มีประสิทธิภาพและเป็นรูปแบบเดียวกัน
         - การสร้างกลไกการบริหารและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานร่วมกับผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (Chief Information Officer) ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน