สืบสานประเพณีสงกรานต์ 2567  เทศกาลปีใหม่ไทย

สืบสานประเพณีสงกรานต์ 2567 เทศกาลปีใหม่ไทย

สืบสานประเพณีสงกรานต์ 2567 เทศกาลปีใหม่ไทย

 

          วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่เก่าแก่ งดงาม และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนโดยใช้ "น้ำ" เป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี 

 


 
          คำว่า "สงกรานต์" หรือ “สํ-กรานต” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ผ่าน หรือการเคลื่อนที่ ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากตีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุก ๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ เมื่อใดก็ตามจะเป็นสงกรานต์ และเรียกชื่อพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดนเป็นการนับทางสุริยคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก) ดังนั้น การกำหนดวันนับสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้

          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่น ๆ แล้วจนครบ 12 เดือน

          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้ว

          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า เถลิงศก หรือวันขึ้นศก คือวันที่เริ่มจุดเปลี่ยนศักราชใหม่ การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้ว อย่างน้อย 1 องศา

          สำหรับในวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทย ประจำปี 2567 ตรงกับวันเสาร์ ที่ 13 เมษายน เวลา 22 นาฬิกา 17 นาที 24 วินาที จันทรคติ ตรงกับ วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือนห้า ปีมะโรง นางสงกรานต์ นามว่า "นางมโหธรเทวี" ทัดดอกสามหาว ทรงพาหุรัด อาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา


ที่มาภาพ : facebook Om โอมรัชเวทย์ Style


          คำทำนายนางสงกรานต์ 2567
          1. เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ อังคารเป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 300 ห่า, ตกในเขาจักรวาล 120 ห่า, ตกในป่าหิมพานต์ 90 ห่า, ตกในมหาสมุทร 60 ห่า, ตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า
          2. เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีตุล ชื่อวาโย (ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด
          3. เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคราชให้น้ำ 7 ตัว ทำนายว่า ฝนแล้ง
          4. เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ คือ มีด้วงและแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ.

 


 

          นอกจากวันสงกรานต์แล้ว รัฐบาลยังกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นบุพการี ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคมนั้น ๆ มาแล้วและวันครอบครัว ส่วนวันที่ 14 เมษายน กำหนดให้เป็นวัน "วันครอบครัว" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ซึ่งผู้ที่ไปทำงานต่างท้องที่ก็จะได้มีโอกาสกลับไปยังถิ่นฐานตน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ และบรรพชนผู้ล่วงลับ 
 

 

 
          ทั้งนี้ แนวทางที่พึงปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ เพื่อสืบสานเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย คือ 
          1) การบำเพ็ญกุศล ด้วยการตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด รักษาศีล และสรงน้ำพระพุทธรูป ถือว่าเป็นการรักษากายใจ ให้สะอาดผ่องแผ้ว เพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งยังเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา 
          2) การทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว 
          3) การรดน้ำ เพื่อแสดงความเคารพและความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ เช่น ลูกกับพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย ผู้สูงอายุ พุทธศาสนิกชนต่อพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น
          4) การเล่นรดน้ำและสาดน้ำ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติ พี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการเล่นอย่างสุภาพพร้อมกับกล่าวคำอวยพรให้มีความสุข คำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น ไม่เล่นสาดน้ำรุนแรง หรือเล่นเกินขอบเขต ไม่ดื่มสุรา ตลอดจนแต่งกายให้เหมาะสม 






อ้างอิง 
อมรินทร์ เทเลวิชั่น. นางสงกรานต์ 2567.  สืบค้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 https://www.amarintv.com/article/detail/61139
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ประเพณีสงกรานต์. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 จาก http://book.culture.go.th/songkran64/mobile/index.html#p=9
เรียบเรียงโดย : นางสาวศุภลักษณ์ ปรางนาคี วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์
นำเข้าข้อมูลสู่ระบบ : นางสาวสรินยา กุลสิวลี เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์
ที่มาภาพ : @jcomp. www.freepik.com