จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่

จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่

จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่

 
          “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ สิทธิตามกฎหมายของคนไทย ที่ใช้ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการแพทย์ เพื่อการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาตั้งแต่โรคทั่วไปอย่างเช่นโรคไข้หวัด ไปจนถึงการรักษาโรคเรื้อรังหรือโรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง หรือโรคหัวใจ เป็นต้น การบำบัดและการบริการทางการแพทย์ การตรวจและรับฝากครรภ์ การให้บริการทันตกรรม รวมถึงการรักษาแบบการแพทย์แผนไทย อาทิ การใช้ยาสมุนไพรหรือยาแผนไทย การนวดเพื่อการรักษา การอบหรือประคบสมุนไพรเพื่อการรักษาก็สามารถทำได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งสิทธิบัตรทอง 30 บาทนี้จะครอบคลุมสิทธิ์ให้แก่คนไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งยังไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม กลุ่มคนเหล่านี้จะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพตามกฎหมาย และสามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  

          ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ แพร่, ร้อยเอ็ด, นราธิวาส และเพชรบุรี และเมื่อขยายเข้าสู่ระยะที่ 2 ที่จะเริ่มในเดือนมีนาคม 2567 จะเพิ่มความครอบคลุมอีก 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ พังงา เพชรบูรณ์ สระแก้ว สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ และจะขยายไปทั่วประเทศใน 1 ปี1 ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท นอกจากจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิของตนเอง หรือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิได้ทุกแห่งแล้ว ยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่หน่วยบริการเอกชนในจังหวัดที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะมีสิทธิบัตรทองอยู่ที่จังหวัดใด ก็สามารถใช้สิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แค่เพียงมีบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถไปรับบริการที่ร้านยา คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น และคลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น ก็สามารถใช้บริการได้ทั่วประเทศ ส่วนคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น สามารถใช้บริการได้เฉพาะจังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส 


 

 
          สำหรับประเด็น “จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่” นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ให้สัมภาษณ์และแสดงข้อคิดเห็นที่น่าสนใจไว้ในรายการ “ทันข่าววุฒิสภา” เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเพจวุฒิสภา @Senate ขอนำเสนอดังนี้

 


 
Q : นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ เป็นการต่อยอดจากนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค หรือไม่ อย่างไร

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ : นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค แต่เดิมเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทยที่กลายมาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จากนั้น ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงนโยบายตั้งแต่สมัยที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้มีการยกเครื่องใหม่โดย นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คนปัจจุบัน ซึ่งนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ถือเป็นนโยบายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบสาธารณสุขของโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

Q : หากนโยบายนี้ดำเนินการสำเร็จจะเป็นอย่างไรบ้าง 

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ : หากนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ประสบความสำเร็จ ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในด้านการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมาก และประชาชนจะมีความพึงพอใจอย่างแน่นอน นั่นเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่ประชาชนต้องพบเจอ คือ ประชาชนต้องไปหาหน่วยบริการประจำที่เป็นคู่สัญญาในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า Contracted Unit for Primary care (CUP) เพื่อจะขอใบส่งตัวผู้ป่วยในกรณีที่ต้องการจะไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นในเครือข่ายหรือนอกเครือข่ายหากเป็นผู้ป่วยใน เมื่อแพทย์นัดก็ต้องไปโรงพยาบาลหลายครั้ง ทำให้ประชาชนเกิดความไม่สะดวกในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก จึงได้มีความพยายามที่จะแก้ไขประเด็นนี้มาโดยตลอด ซึ่งโครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ จะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลในบริเวณที่ตนอาศัยอยู่หรือในจังหวัดที่ตนเองอาศัยอยู่ นอกจากโรงพยาบาลหลักแล้วยังสามารถใช้บริการโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลทั่วไป สามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน และร้านขายยา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น 

 


 
Q : ในฝั่งของโรงพยาบาลมีความกังวลกับนโยบายนี้บ้างหรือไม่

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ : เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและทีมงาน ในฐานะผู้วางนโยบายยังไม่แน่ใจในผลที่จะเกิดขึ้น จึงได้มีการทดลองนำร่อง 4 จังหวัด ใน 4 ภาค ได้แก่ จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดนราธิวาส โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 เหตุที่ต้องมีการทดลองนำร่องก็เพื่อจะศึกษาว่า จะพบปัญหาจากการผลักดันโครงการนี้หรือไม่ เพราะว่าปัญหาใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้น คือ ประชาชนจะไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าโรงพยาบาลใหญ่น่าจะมีหมอดี ๆ ซึ่งปกติก็จะมีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมากอยู่แล้ว ทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นมีคนไข้เพิ่มมากขึ้น และระบบจัดสรรเงินให้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธินอก CUP นี่เป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายรวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความกังวลอยู่เช่นกัน  ซึ่งในการทดลองนำร่องนี้จะมีการเก็บข้อมูลว่า ผลสุดท้ายแล้วโรงพยาบาลใหญ่ ๆ จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างที่กังวลหรือไม่ หากพบปัญหาก็จะได้ปรับรูปแบบกันต่อไปในอนาคต โดยอาจจะต้องนำสถิติตัวเลขที่เก็บรวบรวมไว้มาพิจารณาว่าตัวเลขผู้ป่วยเป็นไปในทิศทางไหน สำหรับการทดลองนำร่อง 4 จังหวัดนี้ ควรจะรอดูผลของการทดลองนำร่องไปสักระยะก่อน แต่หากไม่พบปัญหาในการทดลองนำร่อง นโยบายนี้ก็จะได้รับการผลักดันให้สามารถใช้ได้ทั้งประเทศอย่างแน่นอน 

Q : การดำเนินงานตามนโยบายนี้จะมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ : ในระบบสากลหรือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเดิม จะมี Gatekeeper ซึ่งเปรียบเสมือนกับผู้รักษาประตู หรือผู้ที่คอยควบคุมไม่ให้เกิดการใช้บริการที่มากขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนได้รับความไม่สะดวก แต่เป็นการควบคุมกรณีที่ประชาชนไปใช้บริการในโรงพยาบาลมากเกินไป เมื่อประกอบกับการเก็บค่าบริการ 30 บาท และหลักการ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ใกล้ที่ทำงาน” ซึ่งเป็นหลักการเดิม คือ ประชาชนอาศัยอยู่ที่ไหน ต้องไปลงทะเบียนที่หน่วยบริการใกล้บ้านตนเองเพื่อใช้บริการสถานพยาบาลนั้น ๆ หากเกินความสามารถของโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นตามลำดับ โดยมีลำดับการส่งต่อตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากนั้นจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งอาจจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในจังหวัดหรือในกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ที่สอดคล้องกับนโยบายปฐมภูมิตาม พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562

 


 
Q : นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ จะช่วยจัดการข้อมูลผู้ป่วยและการส่งต่อการรักษาได้อย่างไรบ้าง และจะใช้ระบบอะไรในการจัดการ

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ : ประเด็นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้ง ดร. พงศธร พอกเพิ่มดี ซึ่งเป็นผู้ผลักดันโครงการ “หมอพร้อม” มารับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับผิดชอบดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) และจะมีคณะกรรมการช่วยวางระบบทั้งในส่วนของ Hardware และ Software เพราะเล็งเห็นว่าหากสามารถวางระบบ IT ให้ดี มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เมื่อผู้ป่วยไปรักษาที่ไหนก็จะสามารถทราบข้อมูลของผู้ป่วยได้ แต่หากวางระบบไม่ดี ไม่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน การจะให้โรงพยาบาลหรือคลินิกต่าง ๆ ติดตามข้อมูลของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะไม่สามารถทำได้ ดังนั้น หากมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็จะสามารถผลักดันนโยบายนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้จนสำเร็จ

Q : ประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงด้านใดบ้างที่ต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อให้นโยบายสิทธิ 30 บาท รักษาทุกที่เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ : การจะทำให้นโยบายดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ยังมีความกังวลในเรื่องของการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เนื่องจากพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีแพทย์ 1 คน ดูแลประชาชน 10,000 คน แพทย์ 3 คน ดูแลประชาชน 30,000 คน ในกรณีที่แพทย์มีธุระส่วนตัวหรือเจ็บป่วยจะให้แพทย์ท่านอื่นไปดูแลแทน มีการหมุนเวียนกัน อีกทั้งยังต้องการลดความหนาแน่น ความแออัดของการใช้บริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลชุมชน ก็จะให้ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แทน เพราะยาหรือวัสดุทางการแพทย์ของ รพ.สต. และโรงพยาบาลใหญ่เป็นแบบเดียวกัน ประชาชนจึงสามารถไปใช้บริการที่ รพ.สต. ได้อย่างมั่นใจ และโรงพยาบาลใหญ่ก็จะส่งแพทย์มาดูแล ซึ่งจะช่วยให้การกระจายตัวของผู้ป่วยที่แออัดในโรงพยาบาลใหญ่ลดลง ถือเป็นแนวทางหรือทิศทางที่ถูกต้อง แต่ในส่วนของกรณี 30 บาท รักษาทุกที่ หากเกิดกรณีการกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพียงแต่ว่ายังมีโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน ร้านขายยาที่จะช่วยแบ่งเบาผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น คือ อัตราที่จ่ายให้คลินิกเอกชน โรงพยาบาลเอกชน หรือร้านขายยา จะเป็นอัตราที่พึงพอใจหรือไม่ หากไม่พึงพอใจเพราะอัตราต่ำลงเนื่องจากเม็ดเงินที่จำกัด อาจทำให้สิ่งที่คาดหวังไว้ไม่เกิดผลตามที่คิด


 
 

 
Q : สำหรับสิทธิอื่น ๆ อาทิ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ นโยบายนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำกับสิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้หรือไม่ อย่างไร

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ : ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ แทบจะไม่มีแล้ว เพราะหากนำสิทธิข้าราชการไปเปรียบเทียบกับสิทธิบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคมแล้วนั้น ข้าราชการยังต้องร่วมจ่ายเยอะมาก เนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณ ระบบราชการเรียกว่า Fee For Service หรือจ่ายตามบริการจริง เป็นการเบิกจ่ายคืนให้ตามบริการที่ได้รับ แต่ระบบสิทธิบัตรทอง 30 บาทและสิทธิประกันสังคมนี้เป็นระบบ Capitation หรือระบบเหมาจ่ายรายหัว ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการใช้งบประมาณมาก มีการควบคุมจากกรมบัญชีกลาง ทำให้ข้าราชการร่วมจ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี สิทธิก็ใกล้เคียงกัน เพียงแต่ข้าราชการไปรักษาที่ไหนก็ได้ แต่สิทธิบัตรทอง 30 บาท ยังมีปัญหาว่าแต่เดิมต้องไปใช้บริการที่ CUP หรือที่ให้นิยามว่าเป็น Gatekeeper ซึ่งถ้าปรับเป็นรักษาทุกที่ก็จะเหมือนกับสิทธิข้าราชการแล้ว ความแตกต่างก็จะยิ่งน้อยลง สิทธิประโยชน์ของบัตรทอง 30 บาท จะมีเพิ่มมากขึ้น


 

 

Q : ฝากถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายนี้

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ : ข้อแตกต่างของสิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค กับสิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกที่ คือ การไม่มี Gatekeeper ซึ่งประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะมี Gatekeeper แต่มีบางประเทศที่ยกเว้น การที่ไม่มี Gatekeeper จะมีปัญหาในเรื่องความหนาแน่นของการใช้บริการโรงพยาบาลตามที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ แต่การที่มี Gatekeeper จะเข้ากับหลักการเดิมของ 30 บาท รักษาทุกโรค คือ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ใกล้ที่ทำงาน” อีกทั้งเรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่ WHO ของสหประชาชาติกำหนดให้มี และต้องการให้ทุกประเทศในโลกมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนกับประเทศไทย และต้องให้มีครบทุกประเทศในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งก็ใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่แต่ละประเทศจะสามารถผลักดันให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค แบบประเทศไทยได้ จึงถือเป็นเครดิตของประเทศไทยที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 หรือปี พ.ศ. 2545 เร็วกว่าทุกประเทศ ไม่นับประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษที่มีระบบนี้ก่อนหน้าประเทศไทย ซึ่งหลายประเทศยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากประชากรในประเทศมีจำนวนมากเกินไป และต้องใช้งบประมาณมากมหาศาล





-----------------------------------------
ที่มา : บทสัมภาษณ์นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา รายการ “ทันข่าววุฒิสภา” เผยแพร่ทาง Facebook “วุฒิสภา” เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567
เรียบเรียงโดย : นางสาวอริสรา  กาญจนอุดม วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์

นำเข้าข้อมูลโดย : นางสาววรินทร จันทรัตน์ เจ้าพนักงานอาวุโส กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์