เตรียมพร้อม “รับมืออากาศร้อน”

เตรียมพร้อม “รับมืออากาศร้อน”

เตรียมพร้อม “รับมืออากาศร้อน”

 

 

          เมื่อฤดูหนาวผ่านพ้นไป ฤดูร้อนและร้อนมากเริ่มมาเยือนประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะในช่วงประมาณกลางเดือนกุมพาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนมากนี้อาจส่งผลกระทบต่อทารก ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือต้องทำงานกลางแจ้ง และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรืออาการต่าง ๆ ของโรคประจำตัวกำเริบขึ้นมาได้ ดังนั้น การเตรียมตัวในการดูแลตนเองเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนมากถึงมากที่สุดในครั้งนี้ @Senate Magazine online เรามีคำแนะนำดี ๆ มาบอกต่อกันค่ะ

  
  

          1. ดื่มน้ำมากขึ้น ต้องพยายามรักษาร่างกายไม่ให้ขาดน้ำ ควรดื่มให้มากขึ้นจากเดิม เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากความร้อน และน้ำยังช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายได้ด้วย ปกติควรดื่มน้ำเปล่าสะอาดประมาณ 2,500 ซี.ซี. เพราะการดื่มน้ำจะเป็นการเติมน้ำ หรือให้อาหารแก่สมอง เนื่องจากสมองของคนเราจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 หากขาดน้ำเพียงเล็กน้อย สามารถทำให้ระดับฮอร์โมนที่กระตุ้นความเครียดเพิ่มสูงขึ้น มีผลต่อการทำงานของอวัยวะภายใน และในระยะยาวอาจทำให้สมองถูกทำลายได้
          2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารปรุงแต่ง เช่น สารให้ความหวาน น้ำตาล แอลกอฮอล์ และสารคาเฟอีน
          3. ต้องกินอาหารให้น้อยลง การกินอาหารให้น้อยลงในช่วงหน้าร้อน เป็นวิธีดูแลสุขภาพหน้าร้อนที่ช่วยไม่ให้ร่างกายทำงานหนัก เพราะช่วงนี้ร่างกายจะใช้เวลาย่อยอาหารนานขึ้น และการย่อยอาหารจะทำให้เกิดพลังงานความร้อน จึงควรเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย และไม่กินมื้อใหญ่เกินไป โดยเฉพาะในช่วงมื้อเย็น เน้นกินผัก ผลไม้ มากขึ้น
          4. ก่อนออกจากบ้านควรทาครีมกันแดด  ทั้งใบหน้า ลำตัว เลือกที่มี SPF สูงๆ ไว้ ถ้าต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน แว่นกันแดด หรือ ร่มขาดไม่ได้ เพราะช่วยลดการสัมผัสความร้อนจากแสงแดดได้
          5. ควรล้างมือบ่อย ๆ ป้องกันท้องร่วง ให้ล้างมือให้สะอาด และล้างบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร เพราะอาจทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องร่วงได้ง่ายกว่าฤดูอื่น ถ้าหากไม่สะดวกล้างมือเวลาออกนอกบ้าน ให้พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไว้
          6. ออกกำลังกายในร่ม เปลี่ยนจากการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือตอนกลางวันร้อน ๆ ไปอยู่ในร่มแทน เช่น วิ่งลู่วิ่งในยิม ยกเวท เล่นโยคะ หรือ เลือกออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือเย็นแทน
          7. ในช่วงหน้าร้อนควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ เพราะอากาศร้อนจะทำให้แอลกอฮอล์ซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดอย่างเร็ว แรงดันโลหิตสูงขึ้นกว่าช่วงอากาศหนาวเย็น หรือช่วงปกติ ซึ่งถ้าหากร่างกายปรับสภาพไม่ทัน อาจทำให้ช็อกได้
          8. อย่าอยู่แต่ในห้องแอร์ การอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา ห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือการระบายอากาศไม่ดี อาจทำให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เชื้อไวรัส เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ควรมีช่วงเวลาที่เปิดประตู
เปิดหน้าต่างในตอนกลางวัน ให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทในห้องด้วย

          9. ไม่ทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก
 

   
          โรคที่ต้องระวังในหน้าร้อน

 


 
          1. โรคลมแดด ฮีตสโตรก (Heat Stroke) กิดจากการที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไป ส่งผลให้การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมองผิดปกติ

          การป้องกัน


             1) ไม่ตากแดดในช่วงเที่ยงวัน หรือเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงบ่ายโมงไปถึง 4 โมงเย็น แต่หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสแดด ควรใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดความร้อนในร่างกาย
             2) ควรจิบน้ำเปล่าให้บ่อยที่สุดในวันที่มีอากาศร้อนจัด
             3) สวมแว่นกันแดดและกางร่มก่อนออกจากบ้าน
             4) ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อนและป้องกันแสงแดดได้
             5) อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ
             6) หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

          2. โรคท้องเสีย ในช่วงอากาศร้อนแบบนี้ เชื้อโรคต่าง ๆ จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาหารจะบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งถ้ากินอาหารไม่สะอาด อาการท้องเสียจะตามมาได้ง่ายขึ้น วิธีป้องกัน ควรกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อลดการติดเชื้อ และไม่กินอาหารที่ตั้งทิ้งไว้นาน ๆ หรือหากทานอาหารไม่หมดควรเก็บเข้าตู้เย็นเพื่อให้อาหารไม่บูดเสีย

          3. โรคผิวหนังแสบ แดง เป็นผื่น เกิดจากการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ โดยปราศจากสิ่งป้องกัน จะทำให้ผิวหนังของผู้สูงอายุเกิดอาการไหม้ เกรียม แสบ และแดงเป็นผื่นได้ จึงควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้แก่ผิวพรรณ และควรทาครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันรังสียูวีมากกว่า 50 PA+++ ทาลงบนผิวหน้าและผิวกายก่อนออกแดดประมาณ 20 นาที และควรทาซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมง เพื่อปกป้องผิวหนังจากแสงแดด
 


          แนะนำวิธีคลายร้อน

 

 

          1. พกขวดน้ำไว้ติดตัว เมื่อเรารู้สึกกระหายน้ำนั่นคือสัญญาณจากร่างกายว่าต้องการน้ำอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่ควรรอให้กระหายน้ำ เพียงแค่พกขวดน้ำติดตัวไว้ก็ช่วยให้คุณดื่มน้ำได้ตลอดเวลา โดยที่ร่างกายจะไม่ขาดน้ำ
          2. ทานผักผลไม้ ผักผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น จะช่วยลดความร้อนและปรับสมดุลภายในร่างกาย จึงควรทานผักที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ผักบุ้ง ตำลึง ผักกาดขาว ผักหวาน บวบ ฟัก แฟง มะละกอดิบ แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพด ส่วนผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น มังคุด มะยม แตงโม แคนตาลูป ส้ม แก้วมังกร ชมพู่
          3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หากอยู่นอกบ้านแล้วรู้สึกร้อนมาก ๆ ควรใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ ชุบน้ำแล้วนำมาเช็ดตัว โดยเช็ดย้อนรูขุมขน เพื่อระบายความร้อนได้ดี และควรเช็ดตามจุดชีพจรในร่างกาย คอ ข้อมือ ข้อพับ ขมับ จะช่วยลดอุณหภูมิภายในเส้นเลือดให้ร่างกายรู้สึกเย็นขึ้นมาในทันที
          4. แช่เท้า การแช่เท้าจะช่วยให้ร่างกายของเราเย็นลง เพียงแค่นำกะละมังเล็ก ๆ ใส่น้ำและน้ำแข็งลงไป จากนั้นแช่เท้าสักครู่จะช่วยให้ร่างกายคลายความร้อนได้
          5. ไปเที่ยวพักผ่อนหนีร้อน ไปน้ำตก ทะเล หรือว่ายน้ำ นั่งเล่นตามสวนสาธารณะช่วงเย็น ๆ นอกจากคลายร้อนแล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้อีกด้วยเป็นเรื่องใกล้ตัวใช่ไหมคะ สำหรับการดูแลตัวเองในช่วงอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ หวังว่าทุกคน
จะดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ และนำวิธีการดูแลตนเองในหน้าร้อนแบบนี้ไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อความสบายใจและความปลอดภัย รวมถึงสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของตัวเราเองด้วยนะคะ
 









--------------------------------------------
ที่มา :  https://www.smk.co.th/newsdetail/401 สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567   
ที่มาภาพ : https://1o0.in/87c9f1 
              https://www.freepik.com/        
              https://shorturl.asia/x3GmR 


เรียบเรียงข้อมูลโดย : นางสาวราตรี ขำบริสุทธิ์ วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์
นำเข้าข้อมูลโดย : นางสาวสินี  ชึรัมย์ เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์


 

ดาวน์โหลดเอกสาร