• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน

ภาพ - ข่าวคณะกรรมาธิการ

 

คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา

15 ตุลาคม 2562 ที่ อาคารสุขประพฤติ - พลเอก ชูศักดิ์  เมฆสุวรรณ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา เพื่อพิจารณารายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาระบบราชการ และการผังเมือง ได้พิจารณาแนวทางและแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการ 4 ประเด็น ประกอบด้วย การบริการประชาชนของภาครัฐ การปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐในกรณีฉุกเฉิน การผังเมือง และการพิจารณาเรื่องร้องเรียน โดยประเด็นการพิจารณาศึกษาเรื่องการบริการประชาชนของภาครัฐ ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายถึงหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในการให้บริการประชาชนว่ายังพบปัญหา หรือมีข้อติดขัดอย่างไรบ้าง โดยสรุปได้ว่า มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนของทางราชการ 9 ประเด็น ดังนี้ หมายเลขโทรศัพท์และช่องทางที่ใช้ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ / หน่วยและศูนย์ที่ต้องติดต่อ / เอกสารที่ต้องใช้ในการติดต่อราชการ / ข้อมูลภาครัฐที่มีในปัจจุบัน / กระบวนการและวิธีการพิจารณา / เวลาที่ใช้ในการดำเนินการ / ความเข้าใจในการรับรู้ของประชาชน / ระบบอุปถัมภ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน / การประเมินผลและความพึงพอใจของประชาชน

ด้านคณะอนุกรรมาธิการระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณากรอบและแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการ โดยนำรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการการจัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาพิจารณาร่วมกัน พร้อมสรุปประเด็นที่จะติดตามความคืบหน้าต่อเนื่องจากคณะอนุกรรมาธิการชุดเดิมใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นการจัดทำแผนที่และข้อมูลที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐ ประเด็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ประเด็นการพัฒนาการบริหารระบบราชการส่วนภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และประเด็นการประกอบกิจการให้เช่าที่พัก

สำหรับคณะอนุกรรมาธิการการปรับปรุง พัฒนาระบบ และการบูรณาการฐานข้อมูลในการบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานของรัฐ ได้พิจารณาจัดทำแผนการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมาธิการในการติดตามและเร่งรัดแผนงานที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการแล้วเสร็จหรืออยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยคณะอนุกรรมาธิการ มีแนวทางในการดำเนินงานโดยแบ่งการพิจารณาและอนุกรรมาธิการออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละด้าน     

ทั้งนี้การประชุมในสัปดาห์ต่อมาที่ประชุมได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เข้าร่วมประชุม โดยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐว่า ประกอบด้วย 3 มิติที่สำคัญ คือ โครงสร้างสารสนเทศ / ข้อมูลและแคตตาล็อกข้อมูล / และบุคลากรด้านการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล ซึ่งหากต้องการให้ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐมีความยั่งยืน จำเป็นต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดระเบียบเพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ขณะที่รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรยายสรุปที่มาของโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐว่า เป็นโครงการที่ต้องการตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้มีระบบกลางในการบริการ Cloud Service สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีมาตรฐานและปลอดภัย รองรับการใช้งานในการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รัฐบาดิจิทัล ปัจจุบันบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ด้านรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวถึงหลักสำคัญของพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ว่า เป็นกฎหมายที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการรับบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว ลดการใช้สำเนาในเอกสารในการติดต่อราชการ สามารถติดต่อภาครัฐโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว หรือติดต่อผ่านระบบออนไลน์แบบ One Stop Service รวมถึงการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ สำหรับการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ โดยสามารถนำข้อมูลเปิดไปพัฒนานวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้

ขณะที่คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการ โดยประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้บรรยายสรุปภาพรวมของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน จากนั้นที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการพิจารณาศึกษาและแผนการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยมีมติว่า จะติดตามความคืบหน้าของแผนงานภายใต้ประเด็นปฏิรูปที่แล้วเสร็จ 14 แผนงาน รวมถึงการติดตามกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว และติดตามระบบการให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมลำดับความสำคัญในแผนปฏิรูปที่คณะอนุกรรมาธิการจะดำเนินการติดตาม โดยให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ประเด็นการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนและบูรณาการข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ในสถานการณ์หรือภาวะฉุกเฉิน ประเด็น การบูรณาการเลขหมายแจ้งเหตุฉุกเฉินให้เหลือเพียงหมายเลขเดียว และประเด็นการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน

จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่วาระการพิจารณาศึกษาข้อมูลแผนปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเชิญผู้แทนจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เข้าร่วมประชุม

นายประหยัด  พวงจำปา คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้สรุปความคืบหน้า ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ที่ประชุมทราบ โดยระบุว่า ปัจจุบันมีเรื่องที่ภาครัฐสามารถดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย เหตุฉุกเฉิน ๑๙๑ เข้าถึงทุกเรื่อง ซึ่งเป็นการบูรณาการเลขหมายแจ้งเหตุฉุกเฉินให้เหลือเพียงหมายเลขเดียวเพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย เหตุฉุกเฉินได้ทุกเรื่อง บริการฉับไว ใส่ใจประชาชน เป็นการปรับปรุงกระบวนการขออนุมัติอนุญาตจากภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน (ปรับปรุงกระบวนการและลดขั้นตอนการให้บริการที่กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน) และมาตรฐานการสอบวัด สู่มาตรฐานคุณภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการพัฒนาระบบการสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไปให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ซึ่งจะรักษาคนดี คนเก่งไว้ในภาครัฐได้

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงความคืบหน้าของแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน ๑๔ แผนงาน พร้อมกล่าวถึงปัญหาอุปสรรคที่พบ อาทิ ส่วนราชการ/หน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเป้าหมาย/ตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับเงื่อนไขความจำเป็น ทั้งในด้านงบประมาณ กฎหมาย และกรอบระยะเวลาดำเนินงาน, การรายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปฯ ด้วยระบบ eMENSCR เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น /ส่วนราชการเน้นการรายงานภารกิจประจำที่ดำเนินการอยู่แล้ว, ส่วนราชการ/หน่วยงาน ยังขาดความเข้าใจในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศฯ โดยเฉพาะส่วนราชการนอกฝ่ายบริหาร, กลไกในการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหลายหน่วยงานยังไม่มีประสิทธิภาพ

ด้านกรรมาธิการได้แสดงความเห็น รวมข้อเสนอแนะในประเด็นการปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ การคัดเลือก 1 จังหวัดในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบของการส่งเสริมโครงการจังหวัดพันธุ์ใหม่ การปรับความเข้าใจระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การปฏิรูปดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

จากนั้นเป็นการพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการ ทั้ง 4 คณะ ร่วมกัน เพื่อบูรณาการประเด็นการพิจารณา รวมถึงการเชิญหน่วยงานที่จะมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในแต่ละคณะอนุกรรมาธิการ ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดวัน เวลาประชุมคณะกรรมาธิการครั้งต่อไป ในวันอังคารที่ 22 ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 2304 ชั้น 23 อาคารสุขประพฤติ 

แหล่งข้อมูล

สุดารัตน์ สร้างถิ่น ภาพ/ข่าว/เรียบเรียง