• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน

ภาพ - ข่าวคณะกรรมาธิการ

 

คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา

4 มิถุนายน 2563 ที่ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) - พลเอก อกนิษฐ์  หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการและคณะทำงาน รวมถึงพิจารณารายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรมโยธาธิการและผังเมือง สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และรายงานผลการพิจารณาและศึกษาไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) One Country One Platform

     โดยคณะอนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาระบบราชการ และการผังเมือง ในคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ได้พิจารณาแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับกำลังคนภาครัฐ โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงาน ก.พ. เข้าร่วมประชุม พร้อมสอบถามผู้แทน สำนักงาน ก.พ. ใน 2 ประเด็น เกี่ยวกับการบริหารจัดการกำลังพลภาครัฐฝ่ายพลเรือน และการดำเนินการเพื่อลดจำนวนบุคลากรภาครัฐทุกประเภทลงร้อยละ 10 ภายในปี 2565 เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ สรุปได้ว่า สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) แต่ไม่ครอบคลุมถึงการจ้างงานประเภทอื่นที่ส่วนราชการจ้าง ส่วนประเด็นการลดจำนวนบุคลากรภาครัฐทุกประเภทลงร้อยละ 10 ภายในปี 2565 ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. กล่าวว่า อาจไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจาก คปร. มีหน้าที่ในการพิจารณากำลังคนภาครัฐเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ครอบคลุมหน่วยงานรัฐทุกประเภท

     ด้านคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้พิจารณาการติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด และการจัดทำแบบฟอร์มข้อมูลผลความคืบหน้าในการติดตามการปฏิรูปประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการ ซึ่งผลการพิจารณาพบว่ากลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงในภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย “๖ เรื่อง - ๒๔ กลยุทธ์ - ๕๖ แผนงาน” โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้คัดเลือกโครงการซึ่งเป็นโครงการมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 17 โครงการ พร้อมกันนี้ยังได้มีข้อเสนอแนะ เร่งรัด ในภาพรวม และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้ภาครัฐ ฝ่ายบริหาร หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณา

     สำหรับคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ได้พิจารณาเสนอแนวทางการประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้ ต่อยอดการทำงานด้านประชาสัมพันธ์ ไปยังคณะอนุกรรมาธิการ 4 คณะ โดยกำหนดให้มีบุคคลรับผิดชอบในการจัดหาประเด็นการประชุมทุกครั้ง เพื่อนำมาจัดทำเป็นอินโฟกราฟิกในแต่ละสัปดาห์ จัดทำ Motto ของกรรมาธิการทั้ง 19 คน จัดให้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ทราบถึงความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ หรือคณะอนุกรรมาธิการ ในการประชุมที่เป็นนัดพิเศษ หรือมีประเด็นน่าสนใจ จะเชิญทีมงานจาก ททบ. 5 มาถ่ายทำเพื่อนำเสนอในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น และเพิ่มความถี่ในการนำเสนอผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจของคณะกรรมาธิการ 3 โพสต์ต่อวัน

     จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณารายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรมโยธาธิการและผังเมือง สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เสนอโดยคณะอนุกรรมาธิการระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีความเห็นและข้อสังเกต ดังนี้ ๑. จากการพิจารณารายงานการเงิน ซึ่งประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงินงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงิน ไม่มีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตหรือน่าเป็นห่วง เพียงแต่การให้รายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยเฉพาะเกี่ยวกับรายการเงินให้กู้ยืมซึ่งเป็นภารกิจหลักของกองทุนฯ อาจน้อยไปสำหรับผู้ใช้รายงานการเงิน (ตามที่แสดงอยู่ก็ไม่ผิดมาตรฐานตามมาตรฐานและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่ถ้าให้รายละเอียดมากกว่านี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้มากขึ้น) ๒. เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้กองทุน ซึ่งมาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินค่าบริการและค่าปรับที่จัดเก็บ เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ เงิน ดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากกองทุน เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน นั้น พบว่ากองทุนยังคงมีรายได้หลักมาจากการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล คณะอนุกรรมาธิการมีความเห็นว่า กองทุนจะต้องมีมาตรการเร่งรัดการชำระคืนเงินกู้ และจะต้องพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้จากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งมีประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่รองรับ เรื่อง การลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน เพื่อให้มีรายได้เข้ากองทุนจากหลากหลายจะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพและช่วยให้กองทุนเติบโตอย่างยั่งยืน

     นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาและศึกษาไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) One Country One Platform เสนอโดยคณะอนุกรรมาธิการการปรับปรุง พัฒนาระบบ และการบูรณาการฐานข้อมูลในการบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานของรัฐ ซึ่ง Thailand Digital Platform (One Country One Platform) เป็นโครงการที่จะบูรณาการข้อมูลและบริหารข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกันอย่างแท้จริง มีการเก็บข้อมูลที่เป็นพฤติกรรมบุคคล (ภายใต้ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล) มีระบบแพลตฟอร์มกลางเพื่อเป็นศูนย์กลางให้กับผู้ใช้งาน ทุกแอปพลิเคชัน (Application) สามารถให้ผู้ใช้งานลงชื่อเข้าใช้งานระบบ (Login) ครั้งเดียว ได้ทั้งหมด สามารถใช้งานผ่านทาง Platform Line OA เพื่อไม่ต้องให้มีข้อจำกัดในการลงโปรแกรม ซึ่งระบบจะช่วยให้ผู้ใช้งานเกิดความอยากใช้ เพราะไม่ต้องพกหลายบัตร มีความปปลอดภัยสูงเนื่องจากต้องเข้าถึงมือถือเราได้ และยังสามารถเพิ่ม 2nd Password + OTP ได้อีก รวบรวมทุกแอพเข้ามาที่เดียวเพื่อให้ผู้ใชสะดวกสบาย สามารถเชื่อมต่อแบบ Single Sign On ในแต่ละ Function
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตในหลายประเด็น เพื่อให้การผลักดันแนวคิดไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) One Country One Platform เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการเดิม ระบบที่นำเสนอซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใดหรือไม่ เพื่อที่จะได้กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบได้ พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องพร้อมเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกัน

     ทั้งนี้ ที่ประชุมได้นัดประชุมครั้งต่อไป วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุม 307 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยเชิญเลขาธิการ ก.พ.ร. เข้าร่วมประชุมในประเด็น การปฏิบัติและความคืบหน้าในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ อาทิ จำนวนและวิธีการ รวมทั้งผลสำเร็จในการตรวจสอบคู่สำหรับประชาชนของหน่วยงานของรัฐ แนวทางการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต และการทบทวนกฎหมายที่ให้อำนาจในการอนุญาตของผู้อนุญาตตามมาตรา ๖ รวมทั้งปัญหาหรืออุปสรรค และประสิทธิผลในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว และแนวทาง เป้าหมาย และแผนการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯและพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ รวมทั้งการจัดทำร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. .... และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน ก.พ.ร. ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ
 

แหล่งข้อมูล

สุดารัตน์ สร้างถิ่น ภาพ/ข่าว/เรียบเรียง