• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน

ภาพ - ข่าวคณะกรรมาธิการ

 

คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

     วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 น. ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) - พลเอก ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาการติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด และการจัดทำแบบฟอร์มข้อมูลผลความคืบหน้าในการติดตามการปฏิรูปประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการ

     ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด แผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน พบว่ากลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงในภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย “๖ เรื่อง - ๒๔ กลยุทธ์ - ๕๖ แผนงาน” โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้คัดเลือกโครงการซึ่งเป็นโครงการมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 17 โครงการ ประกอบด้วย ประเด็น บริการภาครัฐ สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตของประชาชน จำนวน ๔ โครงการ / ประเด็น ระบบข้อมูลภาครัฐมีมาตรฐานทันสมัย และเชื่อมโยงกัน ก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล จำนวน ๓ โครงการ / ประเด็น โครงสร้างภาครัฐ กะทัดรัด ปรับตัวได้เร็ว และระบบงานมีผลสัมฤทธิ์สูง จำนวน ๔ โครงการ / ประเด็น ระบบบริหารงานบุคคลที่สามารถดึงดูด สร้าง และรักษาคนดี คนเก่งไว้ในภาครัฐ จำนวน ๔ โครงการ  / ประเด็น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คล่องตัว โปร่งใส และมีกลไกป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน จำนวน ๒ โครงการ  / ส่วนประเด็น กำลังคนภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสม และมีสมรรถนะสูงพร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมาธิการพบว่า ยังไม่ปรากฏโครงการด้านกำลังคนที่เป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง โครงการจำนวนมาก เป็นภารกิจประจำของหน่วยงาน เช่น การฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งยังไม่มีนวัตรกรรม หรือ การเปลี่ยนแปลงใหม่เพื่อจะผลักดันให้ก้าวไปสู่เป้าหมายของการปฏิรูป

     อย่างไรก็ตามโครงการที่คณะกรรมาธิการได้คัดเลือกมาทั้ง 17 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน ๔ (ร้อยละ 24) โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน ๑๓ โครงการ (ร้อยละ ๗๖) และเห็นควรให้มีการดำเนินการต่อไปทุกโครงการ ซึ่งทุกโครงการเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับบริการจากภาครัฐที่สะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ภาครัฐยังเกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อมุ่งไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งท้ายที่สุด โครงการต่าง ๆ ที่คัดเลือกมานี้ เมื่อดำเนินการได้สำเร็จ เห็นผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการแล้ว
จะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม”

     นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังได้มีข้อเสนอแนะ เร่งรัด ในภาพรวม และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเห็นควรให้ภาครัฐ ฝ่ายบริหาร หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณา ดังนี้ เร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลประชาชน ให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน เร่งรัดการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานของภาครัฐให้เร็วขึ้นกว่าปัจจุบัน เร่งรัดการดำเนินการให้เป็น Open Government และ Connected Government   เพื่ออำนวยความสะดวกและบริการประชาชน มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในยามปกติ เมื่อไม่มีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และตอบโจทย์ประชาชน กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรับผิดชอบมากขึ้น การจัดซื้อ/จัดจ้างในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีความคล่องตัว โครงสร้างภาครัฐต้องปรับขนาดให้กะทัดรัดและเหมาะสม จะต้องพิจารณาเป็นรายหน่วยงานไปตามความจำเป็น และพิจารณาปรับเพิ่มหรือลดกำลังคนภาครัฐเป็นรายกรณี

แหล่งข้อมูล

สุดารัตน์ สร้างถิ่น ภาพ/ข่าว/เรียบเรียง