• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา

*** สรุปผลการเดินทางพบปะ สนทนา *** คณะกรรมาธิการการการพลังงาน วุฒิสภา

เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา นำโดย   พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตามและเสนอแนะด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน  ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเพื่อพบปะ สนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และผู้บริหารของกรม  โดยมี นายยงยุทธ  จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวให้การต้อนรับคณะเดินทาง และบรรยายสรุปภาพรวมเกี่ยวกับภารกิจของกรม      ในด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015)       โดยมีเป้าหมายลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (EI) ลงร้อยละ ๓๐ ภายในปี ๒๕๗๙ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓ ตลอดจนภาพรวม ของเป้าหมายและแนวทางการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) 
 

สำหรับประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ดำเนินการ            มีทั้งหมด ๗ ประเด็นปฏิรูป ดังนี้ ประเด็นปฏิรูปที่ ๙ ปฏิรูประบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลไม้โตเร็ว สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

ประเด็นปฏิรูปที่ ๑๐ การส่งเสริมการนำขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ประเด็นปฏิรูปที่ ๑๑ การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี

ประเด็นปฏิรูปที่ ๑๒ ปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่ง ระยะ 20 ปี ประเด็นปฏิรูปที่ ๑๓ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน      และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม ประเด็นปฏิรูปที่ ๑๔ การดำเนินการใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code : BEC) และประเด็นปฏิรูปที่ ๑๕ การใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ

        ในการนี้ คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตั้งประเด็นข้อสอบถาม ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานกับอธิบดีและผู้บริหาร โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ (๑) การบริหารงบประมาณประจำปี ๒๕๖๓ (๒) การประชาสัมพันธ์โครงการด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน อาทิ โครงการโซลาร์รูฟทอปเสรี ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้เอกชนที่สนใจเล็งเห็นจุดคุ้มทุนในการลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการ (๓) การหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานพัฒนาด้านเชื้อเพลิงชีวมวล อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับปลูกไม้มีค่า ไม้โตเร็ว กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า และกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการบริหารจัดการปริมาณสำรองของน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อให้การดำเนินงาน ด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานของกรมในการเตรียมการเพื่อรองรับการยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามที่พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลใช้บังคับ ตลอดจนแนะนำให้เสนอความเห็นในประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย กฎ      และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะกรรมาธิการเพื่อประกอบการพิจารณาศึกษาต่อไป

 

ดาวน์โหลดเอกสาร

แหล่งข้อมูล

คณะกรรมาธิการการพลังงาน