• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภาพ - ข่าวคณะกรรมาธิการ

 

การประชุม คณะอนุกรรมาธิการการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๒ วันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุม หมายเลข ๒๑๐๔ ชั้น ๒๑ อาคารสุขประพฤติ

ด้วยในคราวการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๒ วันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระการประชุม สรุปได้ดังนี้

-  พิจารณาขอบเขตความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

นายจเด็จ  อินสว่าง ประธานคณะอนุกรรมาธิการ เห็นควรให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาขอบเขตความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยพิจารณาว่าควรมีการปรับเปลี่ยนขอบเขตความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการหรือไม่ อย่างไร  เนื่องจากเห็นว่า แผนที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการอื่นในบางกรณีอาจมีลักษณะที่มีความเกี่ยวข้องกับขอบเขตความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการนี้ จึงอาจมีการขยายขอบเขต
ความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการให้ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อให้การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของคณะกรรมาธิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรให้ที่ประชุมพิจารณาและเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเพื่อนำผลการพิจารณาในที่ประชุมนี้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาต่อไป

ผลการพิจารณา :  ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศ มีแผนที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับขอบเขต
ความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการนี้อยู่ด้วยกัน ๕ ด้าน รวม ๙ เรื่อง ดังนี้

๑.  ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบบริหารงานบุคคล
ที่สามารถดึงดูด สร้าง และรักษาคนดี คนเก่งไว้ในภาครัฐได้อย่างเหมาะสม

๒.  ด้านกฎหมาย ในส่วนที่เกี่ยวกับ

- การมีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

- การมีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายหรือกฎโดยสะดวกและเข้าใจกฎหมายได้ง่าย

- การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกฎหมาย คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือการตีความกฎหมายหรือกฎ ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และการมีกลไกส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

๓.  ด้านกระบวนการยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับ

- การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

- การพัฒนากลไกการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

- การปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารงานยุติธรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยและความเป็นธรรมในสังคม

๔.  ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีและสารสนเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ

๕.  ด้านสังคม ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งและในส่วนที่เกี่ยวกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีแผนที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับขอบเขตความรับผิดของคณะกรรมาธิการนี้อยู่ด้วยกัน ๒ ประเด็น รวม ๖ เรื่อง ดังนี้

๑.  ประเด็นการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม

- แผนย่อยการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และการเสริมสร้าง
จิตสาธารณะ และการเป็นพลเมืองที่ดี

- แผนย่อยการใช้สื่อและสื่อสารมวลชนในการปลุกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมของคนในสังคม

๒.  ประเด็นศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต

- แผนย่อยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้าง
ศักยภาพมนุษย์

- แผนย่อยการพัฒนาช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น

- แผนย่อยการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของวัยแรงงาน

- แผนย่อยการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ในแต่ละเรื่องข้างต้นคณะกรรมาธิการจะมีความรับผิดชอบหลักในแผนย่อย/แผนงาน/กิจกรรมนั้น ๆ หรือมีความรับผิดชอบสนับสนุนแผนที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด ประธานคณะอนุกรรมาธิการมอบหมายให้นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ อนุกรรมาธิการและเลขานุการ เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงบทบาทและภารกิจของคณะกรรมาธิการเป็นสำคัญ และส่งให้ฝ่ายผู้ช่วยเลขานุการดำเนินการปรับแก้เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการในการประชุม ครั้งที่ ๘/๒๕๖๒ วันจันทร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ พิจารณาต่อไป โดยให้บรรจุเรื่องดังกล่าว
ในวาระการประชุมเป็นเรื่องเสนอเพื่อพิจารณา