• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ข่าวสารคณะกรรมาธิการ

 

การประชุม คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ครั้งที่ ๑๘/๒๕๖๓ วันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา

ด้วยคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำ
และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ ๑๘/๒๕๖๓ วันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
            ๑. พิจารณาศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการเมืองการปกครอง และระบบการเลือกตั้ง
ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา
และราชอาณาจักรไทย รวมทั้งข้อมูลเปรียบเทียบ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค
(SWOT ANALYSIS)

                ตามที่คณะอนุกรรมาธิการมอบหมาย คณะทำงานพิจารณาศึกษาและจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรูปแบบการเมืองการปกครองและระบบการเลือกตั้งโดยทั่ว ๆ ไปของสาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และราชอาณาจักรไทย โดยคณะทำงาน
ได้นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณา และที่ประชุม
คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นชอบข้อมูลเปรียบเทียบตามที่คณะทำงานเสนอ นั้น
                ผลการพิจารณา:  ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นสมควรดำเนินการ ดังนี้
                (๑)  นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบรูปแบบการเมืองการปกครอง และระบบการเลือกตั้ง
ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา
และราชอาณาจักรไทย รวมทั้งข้อมูลเปรียบเทียบ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค
(SWOT ANALYSIS) ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา
                (๒)  เสนอต่อคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาจัดพิมพ์ข้อมูลเปรียบเทียบตามข้อ (๑)
เบื้องต้น จำนวน ๑,๕๐๐ เล่ม มอบให้ คณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการ บุคคลในวงงานวุฒิสภา หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ห้องสมุดสถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานหรือบุคคลอื่น ๆ
ตามที่คณะกรรมาธิการเห็นสมควร  
 
            ๒. พิจารณาติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการการให้ประชาชน
เข้าฟังการประชุมสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                ตามที่คณะอนุกรรมาธิการเห็นสมควรติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับ
โครงการการให้ประชาชนเข้าฟังการประชุมสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่
โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างสอบถามเป็นหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคละสองจังหวัด เช่น ภาคกลาง
ได้แก่ จังหวัดลพบุรีและจังหวัดชัยนาท ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครพนมและจังหวัดขอนแก่น ภาคตะวันออก
ได้แก่ จังหวัดตราดและจังหวัดปราจีนบุรี ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี
และภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดตากและจังหวัดเพชรบุรี เรื่องดังกล่าวฝ่ายเลขานุการได้รายงาน
ความคืบหน้าการดำเนินการสรุปว่า ได้ส่งหนังสือคณะกรรมาธิการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการให้ประชาชนเข้าฟังการประชุมสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวแล้ว
                ผลการพิจารณา:  ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการรับทราบและมอบหมายฝ่ายเลขานุการติดตามความคืบหน้าจากผู้ว่าราชการจังหวัด
            ๓. พิจารณาติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการการถ่ายทอดสด
เสียงการประชุมสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                ตามที่คณะอนุกรรมาธิการ โดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม
ของประชาชน วุฒิสภา ได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เสนอแนะให้กระทรวงมหาดไทย
ขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม เพื่อให้มี
การถ่ายทอดสดเสียงการประชุมสภาท้องถิ่น นั้น นอกจากการให้ประชาชนเข้าฟังการประชุม
สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเห็นว่าการประชุมสภาท้องถิ่นดังกล่าว อย่างน้อยควรมีการถ่ายทอดสดเสียงการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สภาเทศบาลนคร
หรือสภาเทศบาลเมือง ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) ด้วย ซึ่งมีทุกจังหวัด และการถ่ายทอดสดเสียงตามสายหรือหอกระจายข่าวที่ดำเนินการโดยทางราชการทุกครั้งที่มีการประชุมสภาเทศบาลตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วม
ของประชาชนและชุมชนในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องดังกล่าวกระทรวงมหาดไทย
ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินการมายังคณะกรรมาธิการ ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการจึงเห็นสมควร
ติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง ต่อกรณีดังกล่าว
ฝ่ายเลขานุการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการสรุปว่า ได้ส่งหนังสือคณะกรรมาธิการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดเสียงการประชุม
สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวแล้ว
                ผลการพิจารณา:  ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการรับทราบและมอบหมายฝ่ายเลขานุการติดตามความคืบหน้าจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อไป
            ๔. พิจารณาติดตามความคืบหน้าการประชาสัมพันธ์ถ้อยคำที่เป็น Key Words สำคัญ
ต่อการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                ตามที่คณะอนุกรรมาธิการ โดยประธานคณะกรรมาธิการ ได้ส่งตัวอย่างถ้อยคำ
ที่เป็น Key Words สำคัญต่อการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุดที่ ๑
เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ ชุดที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๓ และชุดที่ ๓ เมื่อวันที่
๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถ้อยคำที่เป็น Key Words สำคัญต่อการพัฒนาการเมือง
และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามที่เห็นสมควรต่อไป
                ผลการพิจารณา:  ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรดำเนินการ ดังนี้
                (๑)  มอบหมายฝ่ายเลขานุการรวบรวมตัวอย่างถ้อยคำที่เป็น Key Words สำคัญ
ต่อการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุดที่ ๑ ชุดที่ ๒ และชุดที่ ๓ เสนอต่อ
ประธานคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาส่งไปยังกองทัพบก โดยหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ประชาสัมพันธ์ถ้อยคำสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนแก่นักศึกษา
วิชาทหาร (นศท.) ชั้นปีที่ ๑ – ๕ ตามที่ได้เชิญ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓
                (๒)  มอบหมายอนุกรรมาธิการ และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาส่งถ้อยคำ
ที่เป็น Key Words สำคัญต่อการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน (ส่งทางไลน์กลุ่ม)
และมอบหมายฝ่ายเลขานุการรวบรวมเพื่อส่งเป็นตัวอย่าง ชุดที่ ๔ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
                (๓)  มอบหมายฝ่ายเลขานุการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการประชาสัมพันธ์
ถ้อยคำสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เช่น กรมทางหลวง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และสถาบันพระปกเกล้า
            ๕. พิจารณาการจัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ รอบ ๓ เดือน (กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๖๓)
                ด้วยคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำ
และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา (คณะกรรมาธิการ ตสร.) เห็นสมควรเตรียมความพร้อม
เกี่ยวกับการจัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ รอบ ๓ เดือน (กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๖๓) โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อาจจัดส่งรายงานความคืบหน้า
มายังวุฒิสภา ในวันจันทร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ ประธานคณะกรรมาธิการ ตสร. ได้เห็นชอบ
ตารางแสดงระยะเวลาการดำเนินการจัดทำรายงานดังกล่าว และตัวอย่างแบบฟอร์มรายงาน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารประกอบการประชุม
 
                ผลการพิจารณา:  ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการรับทราบและมอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการจัดทำรายงานตามแบบฟอร์มที่คณะกรรมาธิการ ตสร. กำหนด
            ๖. พิจารณาการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน
                        ด้วยประธานคณะอนุกรรมาธิการมีแนวคิดสมควรให้มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ
การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ใกล้วันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันจักรี วันปิยมหาราช วันรัฐธรรมนูญ หรือวันสำคัญอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมาธิการเห็นสมควร โดยสถานที่จัดนิทรรศการ
ทั้งในวุฒิสภาหรือสถานที่คณะกรรมาธิการกำหนด โดยมีหน่วยงานที่อาจให้การสนับสนุนดำเนินการ
เช่น สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งนี้ เพื่อปลูกฝังสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับหน้าที่ ความมีระเบียบวินัย และความรับผิดชอบการเป็นพลเมืองที่ดี รวมทั้งให้เกิดการตื่นรู้ ตื่นตัวในความเป็นพลเมืองที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยสอดคล้องตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ประเด็นการปฏิรูปที่ ๑ การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเด็นการปฏิรูปที่ ๒ กลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย และประเด็นการปฏิรูปที่ ๕
การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย
                ผลการพิจารณา:  ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการรับทราบและเห็นสมควรดำเนินการ ดังนี้
                (๑)  เสนอแนวคิดให้มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม
ของประชาชน ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา
                (๒)  หากคณะกรรมาธิการพิจารณาเห็นชอบในหลักการ คณะอนุกรรมาธิการจะได้นำเสนอรูปแบบ วิธีการ และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป
            ๗. พิจารณาเกี่ยวกับการจัดเสวนาเพื่อให้เกิดการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน
                        ด้วยประธานคณะอนุกรรมาธิการมีแนวคิดสมควรให้มีการจัดเสวนาเพื่อให้เกิดการ
พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง
และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี และการสร้างรัฐธรรมาธิปไตย โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเสวนา จำนวนประมาณ ๓ คน กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมการเสวนา
จำนวนประมาณ ๖๐ คน ใช้เวลาการเสวนาประมาณ ๒ ชั่วโมง สถานที่จัดเสวนา คือ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการวุฒิสภา และให้มีการถ่ายทอดสดการเสวนาผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่คณะกรรมาธิการสามารถขอความร่วมมือได้ เช่น สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา หรือผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์สด
                ผลการพิจารณา:  ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการรับทราบและเห็นสมควรดำเนินการ ดังนี้
                (๑)  เสนอแนวคิดให้มีการจัดเสวนาเพื่อให้เกิดการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม
ของประชาชน ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา
                (๒)  หากคณะกรรมาธิการพิจารณาเห็นชอบในหลักการ คณะอนุกรรมาธิการจะได้นำเสนอประเด็นหัวข้อการเสวนา รายชื่อวิทยากร กลุ่มเป้าหมาย รูปแบบ วิธีการ และรายละเอียดอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้อง ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป
            ๘. พิจารณากำหนดวันและเวลาในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ     
                ผลการพิจารณา: ประธานคณะอนุกรรมาธิการ โดยความเห็นชอบของที่ประชุม
คณะอนุกรรมาธิการ จะแจ้งยืนยันการนัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการอีกครั้ง
 
 

ดาวน์โหลดเอกสาร