• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข

ภาพ - ข่าวคณะกรรมาธิการ

 

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ในวันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ในวันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๓.๐๐ นาฬิกา ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์  ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ผู้ชำนาญการ และฝ่ายเลขานุการ ร่วมเดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงาน โดยมี นางวันทนีย์  วัฒนะ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เช่น ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ ๑) นโยบายและแนวทางการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมระบบบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) Pre Hospital หรือหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ในบริเวณ ๙ เขตพื้นที่ ๒) โรงพบาลทั้งหมด แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ จำนวน ๔๖ แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน จำนวน ๑๐๘ แห่ง และระบบปฐมภูมิ จำนวน ๘๒ หน่วยบริการ ครอบคลุม ๒๓ เขต ๒) นโยบายและการบริหารจัดการด้านระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านระบบบริการปฐมภูมิ และพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ดำเนินงานแล้ว จำนวน ๑๒ เขต รวม ๘๒ หน่วยบริการ แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น การขาดแคลนบุคลากร โดนเฉพาะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หน่วยบริการรับส่งทุติยภูมิยังไม่เพียงพอ ๓) การเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการหามาตรการเพื่อทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในระยะที่ ๓ เกิดขึ้นช้าที่สุด และจะเฝ้าระวังเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้มีจำนวนน้อยที่สุด ส่วนกลไกการบริหารจัดการ จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (EOC) ของกรุงเทพมหานคร เพื่อพร้อมรับทุกสถานการณ์ โดยการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร จะประสานงานและหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยการประสานกับสำนักงานเขตช่วยติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดโรงพยาบาล เพื่อเป็นสถานที่กักกันผู้ได้รับเชื้อไว้พร้อมแล้ว ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสม เนื่องจากห่างไกลชุมชน โดยจุดเด่นของกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตามมาตรการของศูนย์เอราวัณที่มีการกำหนดระดับความรุนแรงของอาการจากผู้ป่วย โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ทั้งหมดมุ่งหวังให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีที่สุด ๔) ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะ เช่น การรับมือการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) มีความจำเป็นต้องสำรองหน้ากากอนามัยไว้ใช้ไม่ต่ำกว่า ๓ เดือน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเผชิญความเสี่ยง ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องหามาตรการรับมือในการสื่อสารความเสี่ยง เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุด มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ และประสิทธิภาพในการดำเนินงานเฝ้าระวังและรับมือการแพร่ระบาด ตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งยังมีข้อติดขัดหลายประการ เช่น การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดต่อ หรือเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาด ที่ถึงแม้จะมีงบประมาณในการเบิกจ่าย แต่ไม่อาจจัดหาได้ เนื่องจากสินค้าขาดแคลน