• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข

ภาพ - ข่าวคณะกรรมาธิการ

 

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ระหว่างวันที่ 6 – 8 สิงหาคม 2563 ณ จังหวัดสุรินทร์

วันที่ 7 สิงหาคม 2563 ระหว่างเวลา 09.00 - 12.00 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์  ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ โรงพยาบาลสุรินทร์ โดยมี นายอดิเทพ  กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และ นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 พร้อมด้วย นายแพทย์ภูวเดช สระโคตร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และนายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ และคณะ ให้การต้อนรับ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ในภาพรวมของจังหวัดและเขต รวมทั้งระบบการให้บริการ ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบการดำเนินงานควบคุมโรคติดต่อ ระบบการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ ตลอดจนงบประมาณที่นำไปใช้กับแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โรงพยาลสุรินทร์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีการพัฒนาบริการไปสู่ความเป็นเลิศ โดยมีการดำเนินงานในหลายด้าน เช่น ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์ทารกแรกเกิด ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยจังหวัดสุรินทร์เน้นการแก้ไขปัญหา 3 ประเด็น ได้แก่ อาหารปลอดภัย อุบัติเหตุ สุขภาพจิตชุมชน และได้มีการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยใช้กลไก พชอ. ตลอดจนพัฒนา พชอ. สู่ พชต. ในพื้นที่อำเภอละ 1 ตำบล โดยบูรณาการกับตำบลจัดการคุณภาพชีวิต/ธรรมนูญตำบล ฯลฯ อีกทั้งมีการดำเนินการระบบสุขภาพปฐมภูมิ (PCC) โดยเน้นให้มีคุณภาพ คนไข้ไม่ต้องเข้ามายัง โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว นอกจากนี้ ได้ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับ PCC ด้วยการร่วมเป็นกรรมการ สำหรับระบบการดำเนินงานควบคุมโรคติดต่อ New Normal และการจัดการหลัง COVID-19 คำนึงถึงจิตใจของเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นสำคัญ โดยในการดำเนินการ มีการสำรวจความเครียด ซึ่งในระยะแรกมีความเครียดและกังวลสูงมาก จึงมีการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ และสิ่งสำคัญ คือ กำลังใจจากผู้บริหาร ซึ่งมีการลงไปปฏิบัติงานร่วมกันอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องงบประมาณ ยังคงไม่เพียงพอ ปัญหา คือ ความแออัด และการให้บริการที่จอดรถ โดยในปีงบประมาณ 2565 จะได้เสนอขออาคารผู้ป่วยในและอาคารจอดรถ เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งต้องเช่าพื้นที่จอดรถสำหรับประชาชนทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก นอกจากนี้ โรงพยาบาล มีการดำเนินการเรื่อง Smart Hospital ซึ่งมีการคิดค้นคิวอัจฉริยะ และโปรแกรมลดความแออัด รวมทั้งมีการเชื่อมต่อโปรแกรม และจัดทำ PCC Link ตลอดจนโปรแกรม Smart Lap ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของโรงพยาบาล เช่น เรื่องงบประมาณ รวมทั้งปัญหารายได้ จากระบบ UC และระบบประกันสังคมซึ่งมีระเบียบขั้นตอนการจ่ายเงินที่มีขั้นตอนมากจำนวนมาก เป็นต้น และระหว่างเวลา 13.30 - 16.00 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์  ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแกใหญ่ (รพ.สต.) ตำบลแกใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์โดยมี นายแพทย์ภูวเดช สระโคตร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และนายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ นางสุนีย์ ศรีเพชร ผู้อำนวยการ รพ.สต. แกใหญ่ และคณะ ให้การต้อนรับ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว และแนวทางการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 รวมทั้งระบบการส่งต่อผู้ป่วย ระบบการจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินงาน รพ.สต.แกใหญ่ รับผิดชอบดูแล 13 หมู่บ้าน 2,206 หลังคาเรือน มีประชากร จำนวน 10,739 คน ทั้งนี้ รพ.สต. ได้รับการคัดเลือกให้ผ่านการประเมิน รพ.สต. ติดดาว ในปี 2561 การดำเนินงานของ รพ.สต. มีการประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น รพศ. สมอ. ชมรมผู้สูงอายุ อปท. อสม. โรงเรียน และวัด การส่งต่อผู้ป่วย มีการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีผู้บริจาครถตู้เพื่อใช้ในการดำเนินการกู้ชีพ แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ขาดแคลน โดยเมื่อส่งต่อคนไข้แล้วจะมีการติดตามอาการคนไข้ เพื่อเตรียมการรับคนไข้เมื่อออกจากโรงพยาบาล และมีการติดตามเยี่ยมผู้ป่วย สำหรับงบประมาณมีการนำไปใช้ในการดำเนินงานเพื่อให้ รพ.สต. มีมาตรฐาน สำหรับการถ่ายโอนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับ  อบจ. และการดำเนินการตามกฎหมาย รพ.สต. แกใหญ่ เป็นสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน โดยเป็นสถานที่ฝึกนักศึกษาหลายสถาบัน รวมทั้งมีการส่งเสริม อสม. ให้ศึกษาต่อหลักสูตรนักวิชาการสาธารณสุข และพัฒนาศักยภาพ อสม. ทั้งนี้ อสม. มีการพัฒนาศักยภาพและฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งส่งเสริมให้ อสม. มีความเป็นจิตอาสา เช่น มีการจัดเวรให้ อสม. เข้ามาช่วยเหลืองานที่ รพ.สต. เช่น การคัดกรองและช่วยเหลือคนไข้ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อสม. เข้ามาช่วยเหลือในการตรวจคัดกรอง และให้ความรู้แก่ชุมชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ด้วยความเข้มแข็งของ อสม. แกใหญ่ จึงส่งผลให้ในชุมชนไม่มีโรคไข้เลือดออกมาเป็นเวลา 4 ปี ปัญหาการดำเนินงาน เช่น ระบบการส่งต่อและระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากชุมชน ดังนั้น จึงต้องการได้รับการสนับสนุนรถกู้ชีพและอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และสนับสนุนความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยเฉพาะตำแหน่งนักวิชาการชำนาญการพิเศษ รวมทั้งการผลักดันให้ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุขได้รับการบรรจุ ตลอดจนการพิจารณาเกี่ยวกับค่าตอบแทนวิชาชีพ