• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข

ภาพ - ข่าวคณะกรรมาธิการ

 

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสาธารณสุข ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ในวันพุธที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

เมื่อวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2563 ระหว่างเวลา 10.00 - 12.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดยนายณรงค์  สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงาน โดยมี นางสาวอ้อนฟ้า  เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. และผู้บริหารของสำนักงาน ก.พ.ร. ให้การต้อนรับ พร้อมร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในประเด็นปฏิรูปที่ 1 : ระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ ได้แก่ 1) การสร้างเอกภาพทางนโยบายในระดับชาติ ผ่านการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือการใช้อำนาจฝ่ายบริหารตั้งคณะกรรมการนโยบาย 5 ด้าน เพื่อบริหารระบบ 2) การปฏิรูปการบริหารสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยการจัดทำ Systematic Sandbox ในพื้นที่ทดลอง ๒ เขตสุขภาพ ได้แก่ เขตกรุงเทพมหนาคต และเขตจังหวัดเชียงใหม่ 3) การกระจายอำนาจการบริหารจัดการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับเขตพื้นที่ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Consortium) ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. และทีมผู้บริหารเห็นด้วยในหลักการการผลักดันการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ทั้ง 3 แนวทางข้างต้น โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) การสร้างเอกภาพทางนโยบายสุขภาพ ควรใช้อำนาจฝ่ายบริหารทดลองดำเนินการ เพราะจะง่ายกว่าการออกกฎหมาย ซึ่งหากผลการดำเนินการมีประสิทธิภาพก็จะนำไปสู่การออกกฎหมายต่อไป 2) การปฏิรูปการบริหารสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยการจัดทำ Systematic Sandbox ควรผลักดันผ่านการใช้อำนาจฝ่ายบริหารมารองรับ ซึ่งอาจดำเนินการกำหนดรายละเอียดประเด็นการปฏิรูปในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. 2559 ที่อนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านสาธารณสุข จะใช้ในการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการจัดทำ Systematic Sandbox 3) การกระจายอำนาจ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Consortium) โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หากต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ควรผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายบริหาร โดยช่องทางที่จะสามารถทำให้เกิดการดำเนินการได้อย่างรวดเร็วที่สุด คือ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขตามแนวทางของอนุกรรมาธิการ ตสร. จะได้รับการดำเนินการก็ต่อเมื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (คป.สธ.) กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ร่วมสนับสนุน ซึ่งการที่ฝ่ายประจำจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ จะต้องเกิดจากความเห็นชอบจากฝ่ายการเมือง จึงจะนำไปสู่การผลักดัน