• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
โครงสร้างการร่างกฏหมาย

รัฐสภาไทย

การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐสภาเป็นองค์การสำคัญที่ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติโดยการตรากฎหมาย เพื่อใช้บริหารราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่ควบคุมตรวจตราดูแลการบริหารงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา รูปแบบของรัฐสภาไทยนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ปรากฏว่าองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐสภาขึ้นอยู่กับรูปแบบของรัฐสภาที่จะเป็นรัฐสภาเดียวหรือสองสภา ทั้งนี้รวมทั้งที่มาของสมาชิกรัฐสภา อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและความเป็นอิสระของรัฐสภา ซึ่งจะช่วยทำให้รัฐสภาสามารถเป็นองค์การบริหารที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศไทยเราได้ใช้ระบบรัฐสภามาแล้วทั้งสองระบบ คือ ระบบรัฐสภาเดียว และระบบรัฐสภาสองสภา แต่ละระบบมีลักษณะและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

1. รัฐสภาแบบสภาเดียว ลักษณะที่สำคัญของรัฐสภาแบบสภาเดียวคือ มีสมาชิกปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเพียงสภาเดียว เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่สภาเดียวของไทยแยกย่อยออกไปอีกเป็น

1.1 สภาเดียวที่ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท และสมาชิก 2 ประเภทนั้นคือ สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสมาชิกที่ได้มาจากการแต่งตั้ง ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475
1.2 สภาเดียวที่ประกอบด้วยสมาชิกประเภทเดียว คือมีเฉพาะสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งเท่านั้น เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช 2515

2. รัฐสภาแบบสองสภา ลักษณะสำคัญของรัฐสภาแบบสองสภานั้นประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกพฤฒสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง