• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน ณ กระทรวงพลังงาน (พน.)

วันที่ 17 ธันวาคม 2563 เวลา 15.30 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา นำโดย พลเอก สกนธ์  สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ ประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ กระทรวงพลังงาน (พน.) โดยกระทรวงพลังงาน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยแบ่งโครงการเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. โครงการที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ซึ่งเป็นโครงการที่ พน. จะให้ความสำคัญในการเร่งรัดดำเนินการเป็นลำดับแรก ประกอบด้วย 1) ศูนย์อนุมัติอนุญาตเบ็ดเสร็จ One-Stop –Service 2) การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center : NEIC) 3) การใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ 4) การพัฒนาปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) และ 5) ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มการแข่งขัน 
2. โครงการที่ดำเนินการต่อเนื่อง ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่ 1) การปรับโครงสร้างองค์กรรับ PSC (แยกงานกำกับ/ดำเนินงาน) 2) การจัดตั้งคณะกรรมการภาคประชาสังคม เพื่อสร้างธรรมาภิบาลทุกภาคส่วน 3) การบริหารจัดการไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล 4) การนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า 5) การส่งเสริมโซลาร์รูฟเสรี 6) การใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (BEC) 7) การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และ 8) การส่งเสริมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน
3. โครงการที่ได้ข้อสรุปการดำเนินการซึ่งสิ้นสุดในปี 2563 ประกอบด้วย 4 ประเด็นปฏิรูป ได้แก่ 1) ประเด็นปฏิรูปที่ 1 การปฏิรูปองค์กร 2) ประเด็นปฏิรูปที่ 3 การสร้างธรรมาภิบาลทุกภาคส่วน 3) ประเด็นปฏิรูปที่ 12 โครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่ง ระยะ 20 ปี และ 4) ประเด็นปฏิรูปที่ 13 การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม 
     ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ ดังนี้
1. กระทรวงพลังงาน ควรมีแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการใช้ปาล์มน้ำมันให้เพิ่มมากขึ้น และควรต้องบริหารจัดการเพื่อสะท้อนต้นทุนราคาปาล์มน้ำมันที่แท้จริงให้มีความชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
2. การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลด้านพลังงานที่สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วนและมีความชัดเจน ดังนั้น พน. ควรเร่งรัดศึกษาแนวทางและปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์ฯ ให้สามารถดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามที่กำหนดในแผนฯ
3. แนวทางการดำเนินการปรับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า 2564-2568 พน. ควรพิจารณาแยกองค์ประกอบค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Additional cost) อันเกิดจากผลกระทบของนโยบายภาครัฐ โดยต้องกระจายภาระดังกล่าวไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ครอบคลุมและเป็นธรรม อีกทั้งต้องแยกกรณีเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าปกติ (อยู่ในระบบ) และกรณีที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการคุณภาพหรือบริการด้านไฟฟ้าที่แตกต่างจากปกติ ให้มีอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ควรใช้อัตราค่าไฟฟ้าเดียวกันทั่วประเทศ เนื่องจากจะทำให้ประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าปกติรับภาระเพิ่มมากขึ้น
4. แนวทางการพัฒนาระบบสายส่งและระบบสายจำหน่ายไฟฟ้า ทั้ง 3 การไฟฟ้า ควรบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาระบบโครงข่ายร่วมกันให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ และเห็นว่าการปรับโครงสร้าง 3 การไฟฟ้า ให้สังกัดกระทรวงพลังงานนั้น ถือว่าเป็นการปฏิรูปที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจาก พน. สามารถกำกับดูแลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพภายในกระทรวงเดียว ก่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอน อันจะส่งผลดีกับประชาชนและประเทศชาติ
5. การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พน. ควรพิจารณาศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เช่น ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ความพร้อมสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ มีการจัดทำแผนปฏิบัติเพื่อรองรับในกรณีดังกล่าวหรือไม่อย่างไร
6. แนวทางการเจรจาเพื่อพัฒนา “เขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา” ควรศึกษาโมเดลเจดีเอ ไทย-มาเลเซีย ซึ่งดำเนินการสำเร็จลุล่วงเกิดประโยชน์ต่อประเทศ และประเทศไทยเองก็มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี ประสบการณ์ อีกทั้งโครงพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่าประเทศกัมพูชา ดังนั้น หากการเจรจาประสบความสำเร็จจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างยิ่ง
7. รับทราบหลักการและนโยบายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 
     ในการนี้ คณะกรรมาธิการเห็นว่า หาก พน. คัดเลือกโครงการโดยการใช้วิธีการประมูลราคา (Bidding) อาจส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจชุมชน/ธุรกิจขนาดเล็กได้ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ และหากประมูลในราคาที่ต่ำเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพต่ำ/ไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลต่อความยั่งยืนในอนาคต