• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการระบายน้ำเสีย ณ ท่าเรือชั่วคราวประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้

หมอเจตน์ นำกรรมาธิการสาธารณสุข บุกคลองลาดพร้าว ดูงานบำบัดน้ำเสีย - ปรับภูมิทัศน์ชุมชน  

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ท่าเรือชั่วคราวประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะเดินทาง พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ ที่ปรึกษา และผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการ เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการระบายน้ำเสีย โดยมี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง และนางวาสนา ศิลป์เบญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยผู้บริหารจากสำนักงานเขตห้วยขวาง และสำนักการระบายน้ำให้การต้อนรับ และนำบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลอง รวมทั้งการแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคลองลาดพร้าวเป็นคลองนำร่อง มีการดำเนินการวางระบบบำบัดน้ำเสียหลายจุดตลอดเส้นทาง แต่คุณภาพน้ำจะดีหรือไม่ ยังต้องขึ้นกับคุณภาพน้ำของต้นน้ำเป็นสำคัญว่ามีการควบคุมกับกับคุณภาพน้ำเสียหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้รับฟังและตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า ควรดำเนินการในลักษณะเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตรวจตราการปล่อยนำ้เสียโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม
     จากนั้น คณะกรรมาธิการได้ร่วมลงเรือเรือตรวจการณ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาและสำรวจสภาพแวดล้อมชุมชนและสถานที่สาธารณะริมสองฝั่งคลองที่ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ และการบำบัดน้ำเสีย ตลอดระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 8 เขต ได้แก่ 1) เขตสายไหมม 2) เขตดอนเมือง 3) เขตหลักสี่ 4) เขตจตุจักร 5) เขตบางเขน 6) เขตห้วยขวาง 7) เขตลาดพร้าว และ 8) เขตวังทองหลาง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงขึ้นฝั่งเพื่อรับฟังการบรรยายสรุป และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมสิงหเสนี โรงเรียมพระราม 9 กาญจนาภิเษก เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1) แนวทางการพัฒนาผังเมืองในพื้นที่ชุมชนริมคลองและชุมชนแออัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
2) ปัญหาสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว การเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนดังกล่าว
3) การส่งเสริมป้องกันโรค และการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชนดังกล่าว
4) การบูราณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และ
5) ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหา ใจความว่า แนวทางการพัฒนาพื้นที่ชุมชนริมคลองห้วยขวางเกี่ยวข้องกับชุมชนริมคลองห้วยขวาง จำนวนวน 22 ชุมชน และชุมชนคลองลาดพร้าว จำนวน 7 ชุมชน รวมมีบ้านชุมชนริมคลอง จำนวน 964 หลังคาเรือน สร้างบ้านมั่นคงเสร็จแล้ว จำนวน 165 หลัง ควบคู่ไปกับการวางระบบโรงบำบัดน้ำเสีย และให้บริการด้านในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและดำเนินการตามมาตราการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่บ้านตามมาตรฐาน 6 โรค โดยศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 25 เขตห้วยขวาง ใน 2 ลักษณะ คือ 1) การดูแลที่บ้าน (Home Health Care: HHC) และ 2) การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)
     อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการได้กล่าวชื่นชมการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการปรับปรุงภูมิทัศน์ นอกจากจะส่งให้เกิดความสวยงามแล้ว ยังส่งผลต่อการลดปัญหาโรคที่มาจากสิ่งแวดล้อมบริเวณชุมชนอีกด้วย