• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เดินทางไปศึกษาดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ในภาพรวมของจังหวัดและ ณ โรงพยาบาลสุรินทร์

วันที่ 7 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลสุรินทร์ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ เดินทางไปศึกษาดูงาน และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ในภาพรวมของจังหวัดและเขต รวมทั้งระบบการให้บริการ ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบการดำเนินงานควบคุมโรคติดต่อ ระบบการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ ตลอดจนงบประมาณที่นำไปใช้กับแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และ นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 พร้อมด้วย นายแพทย์ภูวเดช สระโคตร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และนายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ และคณะ ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ โรงพยาลสุรินทร์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีการพัฒนาบริการไปสู่ความเป็นเลิศ มีการดำเนินงานในหลายด้าน เช่น ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์ทารกแรกเกิด ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยจังหวัดสุรินทร์เน้นการแก้ไขปัญหา 3 ประเด็น ได้แก่ อาหารปลอดภัย อุบัติเหตุ สุขภาพจิตชุมชน และได้มีการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยใช้กลไก พชอ. ตลอดจนพัฒนา พชอ. สู่ พชต. ในพื้นที่อำเภอละ 1 ตำบล โดยบูรณาการกับตำบลจัดการคุณภาพชีวิต/ธรรมนูญตำบล ฯลฯ อีกทั้งมีการดำเนินการระบบสุขภาพปฐมภูมิ (PCC) โดยเน้นให้มีคุณภาพ คนไข้ไม่ต้องเข้ามายัง โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว นอกจากนี้ ได้ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับ PCC ด้วยการร่วมเป็นกรรมการ
สำหรับระบบการดำเนินงานควบคุมโรคติดต่อ New Normal และการจัดการหลัง COVID-19 คำนึงถึงจิตใจของเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นสำคัญ โดยในการดำเนินการ มีการสำรวจความเครียด ซึ่งในระยะแรกมีความเครียดและกังวลสูงมาก จึงมีการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ และสิ่งสำคัญ คือ กำลังใจจากผู้บริหาร ซึ่งมีการลงไปปฏิบัติงานร่วมกันอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องงบประมาณ ยังคงไม่เพียงพอ ปัญหา คือ ความแออัด และการให้บริการที่จอดรถ โดยในปีงบประมาณ 2565 จะได้เสนอขออาคารผู้ป่วยในและอาคารจอดรถ เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งต้องเช่าพื้นที่จอดรถสำหรับประชาชนทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก 
นอกจากนี้ โรงพยาบาล มีการดำเนินการเรื่อง Smart Hospital ซึ่งมีการคิดค้นคิวอัจฉริยะ และโปรแกรมลดความแออัด รวมทั้งมีการเชื่อมต่อโปรแกรม และจัดทำ PCC Link ตลอดจนโปรแกรม Smart Lap ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของโรงพยาบาล เช่น เรื่องงบประมาณ รวมทั้งปัญหารายได้ จากระบบ UC และระบบประกันสังคมซึ่งมีระเบียบขั้นตอนการจ่ายเงินที่มีขั้นตอนมากจำนวนมาก เป็นต้น