• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

คณะอนุกรรมาธิการด้านการคลัง ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา ด้เชิญหน่วยงานกรมสรรพากร ในการติดตามผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย e-payment

วันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้อง 2307 ชั้น 23 อาคารสุขประพฤติ คณะอนุกรรมาธิการด้านการคลัง ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา นำโดย นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้เชิญหน่วยงานกรมสรรพากร ในการติดตามผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย e-payment
     โดยนางสาวฎาฎะณี วุฒิภดาดร ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี มองว่า การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ถือว่ากรมสรรพากรบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหมายไว้ เนื่องจากเหตุผลในการออกกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ที่ได้กำหนดให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งรวมถึงการรับชำระภาษี นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญยังมีการกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร โดยธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คือ 1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป 2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูล ตรวจสอบ และสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง
     ส่วนความคืบหน้าในการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย e-payment เพื่อรองรับให้กฎหมายฉบับนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรองรับการนำส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การหักภาษีและนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) การจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/eReceipt) และการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)
     อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมาธิการ จะรับข้อห่วงใยที่กรมสรรพากรขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเจตนารมณ์ของการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวที่จะเป็นการอำนวยความสะดวก สร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีของประชาชน รวมไปถึงกฎหมายฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีบทบาทช่วยส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยแยกผู้เสียภาษีกลุ่มดีและกลุ่มเสี่ยง สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในระบบได้อย่างแท้จริง