• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

คณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนจังหวัดนครศรีธรรมราช

วันที่ 24 มกราคม 2563 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช คณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับสมาคมแพทย์อุบัติแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายแพทย์ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยอนุกรรมการ ประกอบด้วย นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย พลตำรวจโท อนันต์  ศรีหิรัญ รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธ์ เกิดนิยม ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนจังหวัดนครศรีธรรมราช โอกาสนี้ นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา และนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย  
 จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 มีผู้เสียชีวิตรวม 425 คน ซึ่งในภาพรวมมีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสองปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561 – 2562) โดยเฉลี่ยลดลงประมาณ 7-8 คนต่อวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินงานลดอุบัติเหตุอย่างเข้มแข็งจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้ และหากดำเนินงานอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง ตลอดทั้งปีจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2565 รายงานผลการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของคณะอนุกรรมการนั้น ประกอบด้วย 2 หลักการ ได้แก่ ระบบความปลอดภัย (Safe System Approach) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 ซึ่งจะทำให้การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมีความครอบคลุม ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับอำนวยการตั้งแต่ศูนย์สั่งการในระดับจังหวัด (Single Command) และระดับปฏิบัติการที่มีความครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด อำเภอ จนถึงระดับตำบลหรือท้องถิ่น โดยมีศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เป็นผู้นำในการดำเนินงาน และการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นไปตามระบบความปลอดภัย (Safe System Approach) ซึ่งประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนที่ต้องเข้ามาร่วมดำเนินงาน เช่น การควบคุมยานพาหนะที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมายที่ทั่วถึงเพียงพอ การสร้างความรู้และความตระหนักเพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรม การควบคุมการออกใบอนุญาต การวิเคราะห์ติดตามและประเมินผล และการคิดนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้ ในด้านการให้ความช่วยเหลือหลังการเกิดอุบัติเหตุ (Post – Crash) และระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ก็มีความสำคัญเช่นกัน
   ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการและภาคีเครือข่ายได้ตั้งเป้าหมายของการลงพื้นที่ ไว้ 2 ประการ  คือ
1. เพื่อเข้าเยี่ยมและเรียนรู้การจัดการสร้างระบบความปลอดภัยบนถนนครบ 10 จังหวัดตัวอย่างที่กระจายอยู่ทุกภาค
2. เพื่อถอดบทเรียนจากทั้ง 10 จังหวัด ตามกรอบระบบความปลอดภัยทางถนน (Safe System) สู่การทำรายงานตามข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ครบถ้วน สะท้อนถึงบริบทของสังคมไทยในแต่ละภูมิภาค  และนำข้อมูลที่ได้รับมารวบรวมและประมวลผลเพื่อรายงานต่อวุฒิสภาและเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการลดอุบัติให้ได้อย่างยั่งยืนโดยเร็วที่สุด