• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

การประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เป็นวันแรก

วันที่ 7 เมษายน 2562 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ คณะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล และนายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เป็นวันแรก ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 140 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 
   โดยที่ประชุมได้รับฟังคำกล่าวเปิดการประชุมโดย Mr. Jose Ignacio Echaniz Salgado ประธานคณะกรรมาธิการฯ ในฐานะประธานการประชุม เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ Common Principles for Support to Parliaments ในฐานะที่เป็นเอกสารแสดงหลักการ 10 ประการที่จำเป็นต่อการสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานของรัฐสภา โดยขอเชิญชวนให้รัฐสภาสมาชิกประเทศใดที่ยังไม่ได้แจ้งประกาศการใช้เอกสารสำคัญนี้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกาศใช้ต่อไป นอกจากนี้ ยังได้แจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการฯ ด้วย 
     จากนั้น ที่ประชุมได้รับฟังการกล่าวอภิปรายพิเศษโดย Mr. Vladimir Voronkov, Under-Secretary-General for Counter-Terrorism, United Nations เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลก (Global Counter-Terrorim Strategy : GCTS) ซึ่งรับรองในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อปี 2549 มุ่งไปที่การนำหลัก 4 ประการที่สำคัญยิ่งต่อการจัดการปัญหานี้ ไปปฏิบัติอย่างสมดุล
     ต่อมา ประธานการประชุมได้ขอให้ผู้ร่วมเสนอรายงาน (co-Rapporteurs) ได้แก่ Mr. K. Al Bakkar (จอร์แดน) และ Mr. B. Tarasyuk (ยูเครน) กล่าวแนะนำสาระสำคัญและหลักการของร่างข้อมติโดยเฉพาะในประเด็นของผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการรับรองร่างข้อมติฉบับนี้ ซึ่งเมื่อจบลำดับประชุมดังกล่าวแล้ว ประธานการประชุมได้เรียกให้ผู้อภิปรายแสดงความคิดเห็นตามลำดับที่จัดไว้ล่วงหน้า 
     โอกาสนี้ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กล่าวเกี่ยวกับร่างข้อมติโดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องนิยามของผู้รับจ้างรบ (Mercenaries) อย่างไรก็ดี แนวทางเพื่อขจัดปัญหาผู้รับจ้างรบปราศจากการรับผิดทางกฎหมายอันกระทบต่อหลักการสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันตามที่ปรากฏในกฎบัตรสหประชาชาติย่อมเป็นแนวทางที่ควรได้รับการส่งเสริม
    จากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาร่างข้อมติเป็นรายย่อหน้าจากฉบับที่ได้รับการแก้ไขจากรัฐสภาสมาชิก จำนวนรวม 129 ข้อ พร้อมด้วย คำขอแก้ไขร่างข้อมติจากที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาสตรี อีก 2 ข้อ รวมเป็น 131 ข้อ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เข้าร่วมในกระบวนการเสนอขอแก้ไขร่างข้อมติในครั้งนี้ด้วย