• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี (Meeting of Women Parliamentarians) ในการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 27

วันที่ 14 มกราคม 2562 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ หัวหน้าคณะผู้แทนฯ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ และพลเอก สุรวัช บุตรวงษ์ เข้าร่วมการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี (Meeting of Women Parliamentarians) ในการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 27 (the 27th Annual Meeting of the Asia-Pacific Parliamentary Forum-APPF 27)
        โอกาสนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ได้กล่าวถ้อยแถลงในสามหัวข้อ ได้แก่ 1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศและสร้างพลังอำนาจให้สตรีและเด็กเพื่อสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน 2. การสร้างความมั่นใจในความเท่าเทียมแก่สตรีและบุรุษในการเข้าถึงการศึกษา การฝึกอบรมทางวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนและบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3. การสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศและสร้างพลังอำนาจสตรีในการตัดสินใจในทุกระดับ โดยมีประเด็นสรุปดังนี้ในปัจจุบันสตรีแม้จะมีบทบาทมากขึ้นแต่ยังมีอีกหลายมิติที่ยังไม่มีความเท่าเทียมกับบุรุษ จำนวนแรงงานสตรียังต่ำหากเปรียบเทียบกับแรงงานชาย ทั้งที่แรงงานสตรีมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในด้านเศรษฐกิจโดยตัวเลขด้านเศรษฐกิจของเอเชียพบว่า การขจัดความอคติทางเพศสามารถเพิ่มรายได้ต่อหัวได้ถึง 30.6% ขณะที่ในปี 2561 ธุรกิจที่มีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเพิ่มขึ้นเป็น 42% จาก 31% ในปี 2560 เพิ่มขึ้น 11% ประเทศไทยมีผู้บริหารหญิงอยู่ในอันดับที่สามของโลกรองจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมีมากขึ้น ผู้หญิงได้รับโอกาสในการศึกษา การทำงานทัดเทียมชายอีกทั้งไทยยังออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติเช่นพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศรวมทั้งรัฐธรรมนูญของไทยรองรับสิทธิชายและหญิงอย่างเท่าเทียม
        ทั้งนี้ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทยได้นำเสนอข้อเสนอแนะ 3 ประการซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในสามหัวข้อข้างต้น ได้แก่ 1. สมาชิกรัฐสภาสตรีเอเชีย-แปซิฟิกต้องส่งเสริมให้มีการนำวาระการวิจัยเชิงนโยบายหลากหลายมิติมาใช้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในทุกมิติ 2. ดำเนินการเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสตรีในฐานะแม่และภรรยาให้ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ลูกและครอบครัวดีขึ้น และ 3. ส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทในเรื่องการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในฐานะตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐสภาและความเป็นหุ้นส่วนของรัฐสภาและความร่วมมืออย่างจริงจังจากผู้นำในภูมิภาค ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการจะทำให้สตรีทุกหมู่เหล่าได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและให้เกียรติ เด็กชายและเด็กหญิงทุกคนได้รับความรักและการดูแลเพื่อสังคมที่เป็นสุข มั่นคง อย่างยั่งยืน