• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
แบนเนอร์ภาพข่าววุฒิสภา / สนช.

ภาพ - ข่าว

 

วันที่ 14 ตุลาคม 2562 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 141 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นวันที่สอง ณ ศูนย์การประชุม Sava Center กรุงเบลเกรด สาธารณรัฐเซอร์เบีย

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุม Sava Center กรุงเบลเกรด สาธารณรัฐเซอร์เบีย คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 141 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นวันที่สอง โดยในช่วงเช้า คณะผู้แทนฯ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา (Governing Council) สมัยที่ 205 โดยมี นางสาว Gabriela Cuevas Barron ประธานสหภาพรัฐสภา และนาย Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานและเลขานุการของที่ประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาระเบียบวาระต่างๆ ตามลำดับ ได้แก่ รายงานสถานะด้านการเงินและการคลัง รวมถึงร่างงบประมาณของ IPU ในปี 2563 โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงินและการคลัง (Sub-committee on Finance) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสหภาพรัฐสภาในช่วงรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา จากนั้นได้รับฟังการรายงานการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 5 ปีของ IPU และความร่วมมือระหว่าง IPU กับสหประชาชาติ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 62 โดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภา

ต่อมาวาระการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 141 ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 11.00 นาฬิกา โดยที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาฯ ได้เริ่มต้นการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ภายใต้หัวข้อหลัก "บทบาทและกลไกของรัฐสภา ตลอดจนความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อจรรโลงกฎหมายระหว่างประเทศ" (Strentening international law: Parliamentary roles and mechnism, and the contribution of regional cooperation) โดยในวันนี้จัดสรรเวลาเฉพาะสำหรับการกล่าวถ้อยแถลงของผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา โอกาสนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามคณะผู้แทนรัฐสภาไทยต่อที่ประชุมสมัชชาฯ เมื่อเวลา 16.30 นาฬิกา โดยมีใจความสำคัญว่า ปี 2562 เป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งเนื่องจากเป็นปีที่ IPU มีอายุครบรอบ 130 ปี และ ประเทศไทยได้กลับสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตย โดยมีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในรอบ 8 ปี ประเทศไทยนอกจากจะให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐสภาในการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศของไทยให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีต่อความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ด้วยไทยเชื่อว่ากฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลักยึดเหนี่ยวสำคัญที่ปกป้องคุ้มครองทุกประเทศ ตลอดจนร่วมผลักดันวาระที่ประชาคมระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติให้ความสำคัญตามบรรทัดฐานสากล อาทิ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนกระบวนการรักษาสันติภาพของ UN และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแกนในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

นอกจากนี้ ประธานรัฐสภายังได้กล่าวถึงบทบาทของไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ โดยรัฐสภาไทยในฐานะประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียนหรือ AIPA มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันบทบาทของรัฐสภาในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่ยึดกฎระเบียบ (rule-based community) และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับปรุงกฎหมายของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน (legal harmonization) โดยความพยายามดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลได้จักต้องมิใช่การดำเนินการของภาครัฐสภาซึ่งรับรู้และเข้าใจปัญหาชองประชาชนดีกว่าใครแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารที่มีฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหุ้นส่วน เพื่อให้สามารถบรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ในตอนท้าย ประธานรัฐสภาได้กล่าวสรุปว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัตินั้น คือ หนทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจและป้องกันปัญหาการแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ต่อเมื่อมีรัฐสภาที่เข้มแข็งและเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ตลอดจนธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำให้ทุกคนร่ำรวยเท่ากันได้ แต่เราสามารถทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายได้

ในช่วงท้ายของการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาฯ ที่ประชุมได้พิจารณาเลือกหัวข้อที่จะบรรจุเป็นระเบียบวาระเร่งด่วน (Emergency Item) ด้วยการลงคะแนนเสียงแบบขานชื่อประเทศทีละประเทศ (roll-call vote) เพื่อเลือกเพียงหัวข้อเดียว จากทั้งหมด 4 หัวข้อที่ประเทศสมาชิกเสนอเข้ามา ได้แก่ หัวข้อเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคง และการก่อการร้ายในซีเรีย ประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และหัวข้อว่าด้วยการบิดเบือนประชาธิปไตยในประเทศเปรู ผลปรากฏว่า หัวข้อเรื่อง climate change ที่เสนอโดยอินเดียชนะไปด้วยคะแนนเสียงสูงสุด 809 คะแนน และได้รับเลือกให้เป็นหัวข้อระเบียบวาระเร่งด่วนของการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาในครั้งนี้โดยคณะผู้แทนไทยได้ร่วมลงคะแนนเสียงเลือกหัวข้อดังกล่าวของอินเดียด้วย

นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม ในวันที่ 14 ต.ค. 62 ประธานรัฐสภาในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันแบบ working lunch ที่ประธานสหภาพรัฐสภา และเลขาธิการสหภาพรัฐสภาเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่หัวหน้าคณะระดับประธานรัฐสภา ณ โรงแรม Crowne Plaza รวมถึง เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่นาง Maja Gojkovic ประธานรัฐสภาเซอร์เบียเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาประเทศที่เข้าร่วมการประชุม ณ รัฐสภาเซอร์เบียด้วย