• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
แบนเนอร์ภาพข่าววุฒิสภา / สนช.

ภาพ - ข่าว

 

สมาชิกวุฒิสภา รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับกรณีศึกษาของการออกนโยบายเพื่อความสุขและผลต่อการเสริมพลังเยาวชน ณ อาคารสภาคองเกรสปารากวัย กรุอะซุนซิโอน สาธารณรัฐปารากวัย

วันที่ 9 กันยายน 2562 เวลา 11.30 นาฬิกา (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ อาคารสภาคองเกรสปารากวัย กรุงอะซุนซิโอน สาธารณรัฐปารากวัย ยุวสมาชิกรัฐสภาในนามรัฐสภาไทย ประกอบด้วย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ร้อยเอก จองชัย วงศ์ทรายทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางสาววิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับกรณีศึกษาของการออกนโยบายเพื่อความสุขและผลต่อการเสริมพลังเยาวชน ในหัวข้อ “การกำหนดนโยบายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและความสุข และผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวที่มีต่อการเสริมพลังเยาวชน : กรณีศึกษา (Policy-making for well-being and happiness and their effect on youth empowerment : Case studies)” ช่วงที่หนึ่ง มุ่งไปที่การอภิปรายนโยบายแห่งรัฐ โอกาสนี้ ผู้ร่วมอภิปราย (Panelists) ประกอบด้วย 1. Ms. Ruth Benitez  2. Mr. Kinga Penjor 3. Mr. Patrick Paul Kemper Thiede 4. Mr. Christopher Bishop ได้อภิปรายถึงกรณีศึกษาในระดับชาติของตน ผ่านการนำเสนอ วิเคราะห์ และการแสวงหาแนวปฏิบัติที่ดีที่ชาติต่าง ๆ ได้ดำเนินการเพื่อให้ประเทศมุ่งหน้าไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดี
     ภายหลังการอภิปรายดังกล่าว นางสาววิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนรัฐสภาไทย ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบัน แนวนโยบายแห่งรัฐของประเทศไทย ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ จำนวน 17 ประการ และได้ประสบความสำเร็จในหลายประการ โดยจะขอกล่าวถึงความสำเร็จในด้านการสาธารณสุขและการเสริมพลังเยาวชน อาทิ โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต การออกพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โครงการสภาจำลองสัญจร โครงการยุวชนประชาธิปไตย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้แทนรัฐสภาไทยได้เน้นย้ำว่าโครงการที่กล่าวมาถือเป็นการปฏิบัติซึ่งประเทศไทยได้มุ่งมั่นตั้งใจให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยหวังว่าจะช่วยสร้างให้โลกใบนี้เต็มไปด้วยความสุขตลอดไป
     ต่อมา เวลา 14.30 นาฬิกา (ตามเวลาท้องถิ่น) คณะผู้แทนรัฐสภาไทยร่วมกับยุวสมาชิกรัฐสภาทั่วโลก รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับกรณีศึกษาของการออกนโยบายเพื่อความสุขและผลต่อการเสริมพลังเยาวชน ในหัวข้อ “การกำหนดนโยบายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและความสุข และผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวที่มีต่อการเสริมพลังเยาวชน : กรณีศึกษา (Policy-making for well-being and happiness and their effect on youth empowerment : Case studies)” ช่วงที่สอง มุ่งไปที่การอภิปรายการปฏิบัติในระดับชุมชน โอกาสนี้ คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมรับฟังการอภิปรายจากผู้ร่วมอภิปราย (Panelists) ประกอบด้วย 1. Ms. Kattya Mabel Gonzalez Villanueva  2. Ms. Alejandra Reynoso 3. Mr. August Olafur Agustsson 4. Ms. Maria Cristina Melgarejo Paucar ได้อภิปรายถึงกรณีศึกษาในระดับท้องถิ่นของตน ผ่านการนำเสนอ วิเคราะห์ และแสวงหาแนวปฏิบัติที่ดีที่ชาติต่าง ๆ ได้ดำเนินการเพื่อให้ประเทศมุ่งหน้าไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดี
     จากนั้น เวลา 16.30 นาฬิกา (ตามเวลาท้องถิ่น) คณะผู้แทนรัฐสภาไทยร่วมกับยุวสมาชิกรัฐสภาทั่วโลก รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการวัดผลความสุขและแนวทางในการตรวจสอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ ในหัวข้อ “การวัดผลการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขและการทำหน้าที่ตรวจสอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Measuring well-being and happiness and exercising oversight of policy implementation)” โอกาสนี้ ผู้ร่วมอภิปราย (Panelists) ประกอบด้วย 1. Mr. Justin Lall  2. Ms. Jennifer Ribarsky 3. Ms. Carrie Exton 4. Mr. Carlos Antonio Rejala Helman ได้อภิปรายถึงข้อมูลสถิติซึ่งพิสูจน์ให้เห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันระหว่างการวัดผลการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขกับการนำนโยบายไปปฏิบัติ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางที่รัฐสภาสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
     ภายหลังการอภิปรายดังกล่าว ร้อยเอก จองชัย วงศ์ทรายทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนรัฐสภาไทย ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยประสบปัญหาความยากจนซึ่งเป็นประเด็นหลักที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของชาวไทย ซึ่งแนวปฏิบัติที่เหมาะสมต่อการจัดการกับปัญหานี้คือการวางนโยบายหรือมาตรการที่มุ่งเน้นการปรับปรุงการบริการพื้นฐานของรัฐ เช่น โรงพยาบาล ไฟฟ้า และประปา ตลอดจนการแสวงหาแนวทางเพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างอาชีพให้แก่ผู้ว่างงาน สำหรับการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม รัฐสภาได้ออกกฎหมายภาษีมรดก เพื่อจัดเก็บภาษีมรดกในผู้ที่มีรายได้มาก ทั้งนี้ รายได้ของการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะใช้ในการสนับสนุนผู้ยากไร้ ซึ่งรัฐได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปีแล้วยังไม่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเอง
     ในช่วงท้าย ผู้แทนรัฐสภาไทยได้เน้นย้ำว่าการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการสร้างงานให้แก่ผู้ว่างงานเป็นหนทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐสภาไทย โดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภาได้รับทราบจากการวัดผลการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขเมื่อได้เข้าไปพบปะหารือกับประชาชนในพื้นที่ของตน ทั้งยังนำข้อมูลนี้มาอภิปรายต่อรัฐบาล จากตัวอย่างนี้ สะท้อนว่ารัฐบาลได้พิจารณาข้อคิดเห็นจากรัฐสภาและนำข้อคิดเห็นนี้ไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม