• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
แบนเนอร์ภาพข่าววุฒิสภา / สนช.

ภาพ - ข่าว

 

คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) ลงพื้นที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ส.ว. ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินงานของกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโนนรัง พร้อมส่งเสริมศิลปาชีพให้กับประชาชน 

วันที่ 20 สิงหาคม 2563 เวลา 14.30 นาฬิกา คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) นำโดย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รองประธานกรรมการฯ คนที่หนึ่ง เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง ลงพื้นที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมี นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ให้การต้อนรับ

     สำหรับการดำเนินงานของกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโนนรัง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่หารายได้เสริมสร้างรายได้ให้ครัวเรือนในช่วงภาวะฝนแล้ง หรือว่างเว้นจากการทำนา เช่น ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมพื้นเมือง เป็นต้น ซึ่งอยู่ในการดูแลของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านยางน้อย เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมศิลปาชีพให้กับราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง

     ด้านนายเกริกชัย ผ่องแผ้ว ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่โดยรวม ประกอบด้วย ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่มีงบประมาณที่จำกัด ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น การขาดที่ดินทำกิน ขาดทักษะอาชีพทำให้ขาดรายได้ ปัญหาภัยคุกคามจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และการแพร่ระบาดของยาเสพติด 

     นอกจากนี้ ประชาชนยังต้องการให้มีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมขนส่ง เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการเดินทาง การขนส่งสินค้า และการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานราชการในพื้นที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่มีปัญหาอุปสรรค เช่น กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและทรัพยากรที่จำกัด ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงขอฝากคณะกรรมการ รับข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปพิจารณาตามกลไกของวุฒิสภาต่อไป