• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger
แบนเนอร์ภาพข่าววุฒิสภา / สนช.

ภาพ - ข่าว

 

การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับความเข้าใจและตระหนักในเรื่องเพศสภาพ (Training Workshop on Gender Sensitivity) ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ

วันที่ 14 มกราคม 2563 วันที่สองของการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับความเข้าใจและตระหนักในเรื่องเพศสภาพ (Training Workshop on Gender Sensitivity) ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ

ในช่วงเช้าของการประชุมฯ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับจำนวนวันลาคลอดในกลุ่มประเทศสมาชิก AIPA โดยประเทศสมาชิก AIPA ที่มีจำนวนวันลาคลอดมากที่สุด คือฟิลิปปินส์ น้อยที่สุด คือ กัมพูชา สำหรับประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลาง คือ แม่ของเด็กสามารถลาได้ 98 วัน และพ่อของเด็กลาได้ 15 วัน ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องการเพิ่มจำนวนวันลาคลอด ซึ่งนางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยที่เข้าร่วมการประชุมฯให้ความคิดเห็นว่า กรณีที่จะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ควรศึกษาข้อคิดเห็นและผลกระทบจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจร่วมด้วย รวมทั้งพิจารณาโอกาสและความเป็นไปได้ของผู้หญิงในการได้รับการจ้างงานด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มประชากรหญิงและชายภายในประเทศ รวมทั้งประเด็นปัญหาที่กระทบต่อความเท่าเทียมกันทางเพศและการส่งเสริมขีดความสามารถของผู้หญิงในประเทศไทย มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

ปัจจุบันจำนวนประชากรหญิงและชายในประเทศไทยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยผลสำรวจของนักวิจัยในปี 2562 ผู้หญิงไทยมีการศึกษาและมีความสามารถในการทำงานนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้นำเพิ่มขึ้นด้วย ในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ผู้หญิงในประเทศไทยมีบทบาทในการเป็นผู้นำ ร้อยละ 42 เป็นอันดับสาม รองจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดทำกฎหมายที่ครอบคลุม รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว แต่ยังคงพบกรณีที่ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม โดยประเด็นความท้าทายที่สำคัญในปัจจุบัน คือ เรื่องอัตราค่าจ้างค่าตอบแทน โอกาสและความก้าวหน้าที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติคือ การร่างกฎหมายและการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ทันเหตุการณ์ รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศเพศ พ.ศ. 2558 ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562) ที่ดูแลแรงงานหญิงและชาย ในกรณีที่งานมีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกัน ปริมาณเท่ากัน นายจ้างจะต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในการเท่าเทียมกัน ไม่ว่าลูกจ้างจะเป็นชายหรือหญิง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อร่างพระราชบัญญัติหุ้นส่วนทางแพ่งเพื่อประกันสิทธิทางกฎหมายของกลุ่ม LGBTI ด้วย