• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ลงพื้นที่เพื่อร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ณ จังหวัดจันทบุรี

วันที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ชมรมท่องเที่ยวชุมชนตำบลวันยาว อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก นำโดย นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ลงพื้นที่เพื่อร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมี พ.จ.ต. เมธา พรตเจริญ รองนายกเทศมนตรีตำบลวันยาว ให้การต้อนรับ และเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ ในหัวข้อ “ปัจจัยสู่ความสาเร็จของเศรษฐกิจฐานราก โดยพิจารณาจากนโยบายการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ครั้งที่ 4 โดยแบ่งการสนทนากลุ่ม (focus group) ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตร กลุ่มแปรรูปและกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็น และได้รับทราบปัญหาเบื้องต้นต่อการดำเนินกิจกรรม เช่น เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้เรื่องการถนอมและรักษาอาหารการขยายตลาดของกลุ่มเฉพาะที่ยังมีตลาดส่งน้อย การต่อยอดเรื่องนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าของผลผลิตได้ การปรับปรุงกฎหมายที่จะเป็นข้อติดขัดต่อการบริการท่องเที่ยว และการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการรับรู้และการเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการในฐานะที่เป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การพัฒนาเศษฐกิจฐานราก ทำความเข้าใจ ที่มา สาเหตุของการเกิดกลุ่ม ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของกลุ่ม ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงานของกลุ่ม ตลอดจนระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับสภาพปัญหาอุปสรรคเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ประมวลผล รวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่รัฐบาลต่อไป
.
จากนั้นเวลา 13.00 นาฬิกา คณะฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ Inn Organic Farm หรือ บ้านสวนอินทรีย์ วิถีพอเพียง ซึ่งเป็นพื้นที่สวนผลไม้แบบผสมผสาน ทำสวนแบบเกษตรอินทรีย์สมัยใหม่ เติมเต็มองค์ความรู้ เปิดเป็นสวนให้นักท่องเที่ยวเข้าทำกิจกรรม ทั้งนี้ต้องการให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมด้านเทคโนโลยี และทำโมเดลเศรษฐกิจฐานรากสู่ประชาชน สู้ได้ทุกภัยพิบัติ ธนาคารปูม้า ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรับฝากปูของชาวประมงที่จับแม่พันธุ์ปูม้า มาแล้วปล่อยเลี้ยงไว้ในกระชัง ขยายพันธุ์ปูทะเล เป็นการพัฒนาอาชีพประมงที่ยั่งยืนและเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูปูทะเล การคืนปูม้าสู่ธรรมชาติเป็นกิจกรรมที่ชุมชนในพื้นที่ได้วางแผนแนวทางในการเพิ่มประชากรของปูม้าในทะเลชุมชน โดยใช้ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของปูม้าวัยอ่อนมาใช้ประโยชน์ ปูม้าแม่พันธุ์หนึ่งตัว จะมีไข่เฉลี่ยมากกว่า 100,000 ฟอง การคืนปูม้าสู่ธรรมชาติ และกลุ่มประมงพื้นบ้านชายฝั่ง เลี้ยงหอยนางรม เป็นวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน เลี้ยงหอยนางรม แบบ หอย 3 น้ำ ที่เป็นแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และพร้อมพัฒนารับการต่อยอดให้กลายเป็นฐานรากด้านการท่องเที่ยวชุมชนเข้มแข็งอีกด้วย
.
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการเยี่ยมชมกลุ่มเกษตรอินทรีย์   Inn Organic Farm หรือ บ้านสวนอินทรีย์ วิถีพอเพียง ธนาคารปูม้า และกลุ่มประมงพื้นบ้านชายฝั่ง เลี้ยงหอยนางรม คณะกรรมาธิการจะได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป