• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตามฯ ได้เชิญหน่วยงานจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เข้าให้ข้อมูลถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในเรื่องสถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา

วันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 9.30 นาฬิกา ณ ห้อง 2309 ชั้น 23 อาคารสุขประพฤติ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา ในคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา นำโดย นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้เชิญหน่วยงานจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เข้าให้ข้อมูลถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในเรื่องสถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา
   นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการโครงการพิจารณาแนวทางการกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้โรงเรียนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาการศึกษามีอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเข้มแข็ง คล่องตัว และสามารถดำเนินการบริหารและการจัดการศึกษาได้สะดวกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางการปฏิรูปการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องยึดเงื่อนไขและหลักการสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 4 ประการ ได้แก่ 1. การยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ  โดยยึดประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญ 2. การมีส่วนร่วม โดยให้บุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมแสดงความคิดเห็นหรือร่วมกำกับดูแล 3. การกระจายอำนาจ เป็นการกระจายอำนาจด้านการบริหารจัดการศึกษา 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป โดยให้คณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ และ4. ความรับผิดชอบตรวจสอบได้ ต้องมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและภารกิจของผู้รับผิดชอบ
   สำหรับโครงการพิจารณาแนวทางการกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ขณะนี้ สพฐ.ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สำรวจความคิดเห็น ปัญหา และอุปสรรค จากบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการจัดทำคู่มือ หลักเกณฑ์ คุณสมบัติของโรงเรียน รูปแบบการบริหารโรงเรียนนิติบุคคลแต่ละรูปแบบฉบับสมบูรณ์ การคัดเลือก การประเมิน การจัดทำข้อตกลงของโรงเรียนนำร่องแต่ละรูปแบบ การกำกับ ติดตาม และผลการดำเนินงาน เพื่อเสนอรายงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ได้คู่มือและแนวทางการกระจายอำนาจโรงเรียนเป็นนิติบุคคลที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป