• ความตัดกันของสี default black white yellow black
  • ปรับขนาดตัวอักษร smaller default bigger

คณะอนุกรรมาธิการการจัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และคณะอนุกรรมาธิการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ในคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงพื้นที่เพื่อติดตามการบูรณาการและแนวทางการสร้างฝายน้ำล้น

วันที่ 3 เมษายน 2562 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย คณะอนุกรรมาธิการการจัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และคณะอนุกรรมาธิการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ในคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ และนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ลงพื้นที่เพื่อติดตามการบูรณาการและแนวทางการสร้างฝายน้ำล้นขนาดกลาง 2 แห่ง บริเวณลำน้ำยางมิ้น และลำน้ำแม่ลาว ในพื้นที่ตำบลศรีถ้อย โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายกิตติ ชัยดรุณ นายอำเภอแม่สรวย และคณะผู้บริหารท้องถิ่นให้การต้อนรับ
      ด้านนางสาวศิริรัตน์ สันธิ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีถ้อย กล่าวถึงที่มาของโครงการสร้างฝายน้ำล้นว่า เกิดจากเกษตรกรหลายชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มตามแนวลำน้ำแม่ยางมิ้นตอนปลายและแม่น้ำแม่ลาวที่ไหลพาดผ่าน ประสบปัญหาผลกระทบจากสภาวะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคขาดแคลนในห้วงฤดูแล้ง และสภาวะน้ำไหลหลากท่วมที่พักอาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมในห้วงฤดูฝน ทั้งนี้ หากสร้างฝายน้ำล้นจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้
     โอกาสนี้ คณะอนุกรรมาธิการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น พร้อมเสนอแนะให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยให้มุ่งเน้นประโยชน์ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับ ทั้งนี้เห็นว่าการก่อสร้างฝ่ายน้ำล้นโดยเสาไฟฟ้า ซึ่งเป็นรูปแบบเดิมนั้น ไม่มีรูปแบบมาตรฐานของทางราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวของจึงไม่สามารรับรองแบบการก่อสร้างให้ได้ ดังนั้น เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามรูปแบบมาตรฐานที่หน่วยงานราชการให้การรับรองได้ จึงควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างฝายน้ำล้น และของบประมาณสนับสนุนตามกระบวนการขั้นตอนต่อไป